แบงก์ชาติชี้ส่งออกไทยไม่โต เหตุสงครามการค้าฯกระทบ

ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยปี’62 โต 3% ผลกระทบสงครามการค้าฉุดส่งออกโต 0% เชื่อครึ่งปีหลังส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวจากอานิสงส์การย้ายฐานการผลิต แต่ยังไม่พอพลิกมูลค่าส่งออกเป็นบวกได้

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาธนาคารกสิกรไทยในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ค่าเงินและตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง” ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศ โดยธปท.ประมาณการว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 จะอยู่ที่ 3.3% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะไม่เติบโต (0%) เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากอุปสงส์โลกที่ชะลอลง ผลของมาตรการกีดกันทางการค้า และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาลง

ในส่วนของทิศทางของเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยกดดัน อาทิ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อจากทั้งการใช้มาตรการภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อตอบโต้กัน โดยชี้ว่าสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่ได้เป็นเพียงความจัดแย้งทางการค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นความขัดแย้งทางเทคโนโลยีและความกังวลต่อความมั่นคงอีกด้วย

“สงครามการค้าฯ ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีทิศทางชะลอลง โดยยังมีความเสี่ยงว่าความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศอาจยืดเยื้อ นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในโลก เช่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) จากสถานการณ์ในเกาหลีเหนือและตะวันออกกลาง รวมถึงเบร็กซิท (Brexit) ที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่มีโอกาสเป็น ‘Hard Brexiteer’ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะเกิดการออกจากอียูโดยไร้ดีลเพิ่มขึ้น (No Deal)” นางสาวพรเพ็ญ กล่าว

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการส่งออกไทยหดตัวสอดคล้องกับประเทศในภูมิภาค ขณะที่ในระยะต่อไป คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับดีขึ้นบ้างและกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการบางรายมายังไทย อย่างไรก็ตาม อาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อัตราการขยายตัวทั้งปีเป็นบวก

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มชะลอลง เช่นกันตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเป็นสำคัญ โดยการท่องเที่ยวที่ชะลอลง เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และการแข่งขันจากประเทศในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ในระยะต่อไปเชื่อว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เช่น การขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียม การตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival: VOA) ออกไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.62

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ ส่งผลให้ต้องเลื่อนปฏิทินงบประมาณและทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2562 ล่าช้าไป 1 ไตรมาส ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีในครึ่งปีแรก กลับมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลังตามการลดลงของยอดขายรถยนต์ นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปอาจถูกกดดันจากความเชื่อมั่นที่ลดลง โดยเฉพาะครัวเรือนฐานราก รวมถึงภาวะตลาดแรงงานที่เริ่มเปราะบาง และมาตรการ Macropridential

ในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยภายนอก คือ ธนาคารกลางประเทศหลักมีการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งสนับสนุน sentiment ของประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย และส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามามากขึ้นในระยะหลัง ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียภาพขึ้น นักลงทุนมองเงินบาทปลอดภัย (regional safe-haven) จากปัจจัยพื้นฐานที่ดีเขิงเปรียบเทียบและผลกระทบจากสงครามการค้าฯ ที่น้อยกว่าประเทศอื่น และสุดท้ายมาจากการเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI และพัธบัตรรัฐบาลไทยในดัชนี JP Morgan Emerging Markets Bond Index


โดยที่ผ่านมาธปท.มีมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นผ่านการลดยอดคงค้างในบัญชีเงินฝากสกุลบาทของต่างชาติที่สถาบันการเงินไทย ทั้งบัญชี NRBA และบัญชี NRBS ให้มียอดคงค้างในแต่ละบัญชีต่อราย ณ สิ้นวัน ไม่เกิน 200 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาท เพื่อลดช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงิน และลดการซื้อเงินบาทมาเก็บไว้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลคงค้างตราสารหนี้ไทยที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติ ให้รายงานข้อมูลถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง จากตราสารหนี้ที่ออกในไทย (UBOs: Ultimate Beneficiary Owners) โดยให้เริ่มรายงานตั้งแต่งวดเดือนก.ค.62 เป็นต้นไป เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้