เร่งปิดดีลควบ “TMB-ธนชาต” 2 แบงก์คุมคุณภาพพอร์ตก่อนโอนกิจการ

ดีลควบรวมกิจการระหว่าง “ธนาคารทหารไทย” หรือ “ทีเอ็มบี” กับ “ธนาคารธนชาต” ใกล้ปิดฉากเข้ามาทุกขณะ

ล่าสุด แหล่งข่าวจากธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ทีเอ็มบี เพื่ออนุมัติให้ไป “ลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการ” กับทางธนชาต (ควบรวมกิจการ)

หลังจากที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ตรวจสอบสถานะการเงิน (due diligence) ระหว่างกันแล้ว ผลออกมาเป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีประเด็นที่ “ผิดไปจากที่คาด” แต่อย่างใด ซึ่งก่อนจะลงนามในสัญญา ทางทีเอ็มบีจะพิจารณาว่า เมื่อควบรวมกิจการแล้ว ระบบงานหรือพอร์ตส่วนไหนจะเก็บไว้ หรือไม่เก็บส่วนใดไว้บ้าง ทั้งนี้ จะเน้นเก็บส่วนที่เป็นจุดแข็งไว้เป็นหลัก

“ตอนนี้ยังมีในรายละเอียดที่ต้องหารือกันอีกเล็กน้อย หลังจากดิวดิลิเจนซ์เสร็จแล้ว ซึ่งผลออกมาส่วนใหญ่ไม่ได้มีอะไรเซอร์ไพรส์ ดังนั้น มั่นใจว่าดีลนี้ไม่ล้มแน่นอน และนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ก็ไม่ขัดข้อง”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การเซ็นสัญญาควบรวมกิจการจะต้องเกิดขึ้น ภายในไม่เกินสิ้นปี 2562 นี้ เพราะหากพ้นไปจากนี้ดีลจะล่ม เนื่องจากจะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามมาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอไว้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถจากการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบการเงิน ระยะที่ 3 พ.ศ. 2562 ที่ลงนามโดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562

ซึ่งสาระสำคัญกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกิจการ ต้องได้รับความเห็นชอบให้ควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนให้แก่กันจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2561 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ขณะที่การควบรวมกิจการต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 และการโอนทะเบียนรถที่อยู่ในระหว่างการให้ลูกหนี้เช่าซื้อต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2565

“ดังนั้น จะต้องเซ็นสัญญากันให้เสร็จโดยเร็ว และส่งเรื่องให้ ธปท.เห็นชอบ จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ส่วนในทางปฏิบัติกระบวนการควบรวมจะเบ็ดเสร็จ คงต้องใช้ระยะเวลาต่อไปอีกสักระยะ เพราะกระบวนการควบรวมไม่ใช่ว่าทำได้ทันทีทันใด” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนในด้านเงินทุนนั้น แหล่งข่าวยืนยันว่า ยังเป็นไปตามกรอบเดิมที่มีการประกาศไว้ คือ ทางทีเอ็มบีจะเป็นฝ่ายดำเนินการจัดหาเงินทุนมูลค่า 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน 70% และที่เหลือออกตราสารหนี้

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ทีเอ็มบี แจ้งผลการดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 ว่าในไตรมาส 2 กำไรของธนาคารปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรอง 4,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่กำไรสุทธิงวด 6 เดือน อยู่ที่ 3,496 ล้านบาท ด้านสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 2.74% ลดลงจาก 2.81% จากไตรมาสก่อน และอัตราส่วนสำรองต่อหนี้เสียอยู่ที่ 140% โดยยังคงเป้าหมายปี 2562 ให้สัดส่วน NPL อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.9% และคงอัตราส่วนสำรองต่อหนี้เสียให้สูงกว่า 140%

ด้านอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (tier I) ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 21.1% และ 13.9% เป็นไปตามเกณฑ์ basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.ที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ

“ทางด้านการเติบโตงบดุลนั้น ธนาคารให้ความสำคัญกับการขยายฐานเงินฝากจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก เน้นเลือกปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างรอบคอบ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตปัจจุบัน เพื่อเสริมฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับดีลการรวมกิจการที่อาจจะเกิดขึ้น” นายปิติกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต ก็ได้แจ้งผลประกอบการธนาคารและบริษัทย่อยว่า มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2

ปี 2562 จำนวน 3,592 ล้านบาท ลดลง 1.59% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรกของปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 7,242 ล้านบาท ลดลง 4.71% จากงวดเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธนาคารได้หมดไปตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561

“แต่หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานก่อนภาษี ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 918 ล้านบาท หรือ 10.58% การดำเนินธุรกิจของธนาคารยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งการขยายตัวของสินเชื่อซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่เติบโต 4.45% จากสิ้นปี และ 12.38% จากครึ่งปีแรกของปี 2561 รวมถึงการรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้ NPL ratio อยู่ในระดับต่ำ และการมีอัตราส่วนเงินกองทุนในระดับสูง” นายประพันธ์กล่าว

นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีเครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน (BFUN) เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.คลัง เพื่อขอทราบความชัดเจน และแนวทางการดูแลพนักงานหลังการควบรวมระหว่างธนาคารทีเอ็มบีเข้ากับธนาคารธนชาต พร้อมมีการระบุว่า การควบรวมดังกล่าวจะส่งผลให้มีพนักงานอย่างน้อย 40% ได้รับผลกระทบ หรือราว 4,000-5,000 คน

ซึ่งผู้บริหารธนาคารธนชาตชี้แจงว่า ธนาคารไม่มีนโยบายปลดพนักงานใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เน้นการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะรวมกิจการหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ธนาคารจะเปิดเผยแผนเกี่ยวกับการควบรวมกิจการอย่างชัดเจนให้พนักงานทราบ หลังดิวดิลิเจนซ์เสร็จสมบูรณ์ ก่อนจะเสนอ ธปท.รับทราบแผนการรวมกิจการ และเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป