ประกันตั้งท่าลุย “ไพรเวตฟันด์” รับลูกเกณฑ์ คปภ.ต่อยอดธุรกิจ

คปภ.ไฟเขียวเปิดช่องแก้เกณฑ์การลงทุนหนุนบริษัทประกันชีวิตตั้งไพรเวตฟันด์เอื้อสับเปลี่ยนกองทุนยูนิตลิงค์-หนุนขยายธุรกิจหลักทรัพย์เพิ่ม บิ๊กประกัน “เมืองไทยฯ-อลิอันซ์ อยุธยาฯ-ไทยสมุทรฯ-กรุงไทย-แอกซ่าฯ” รับลูกขอไลเซนส์ตั้งไพรเวตฟันด์ทั้งแบบ “ฟูลไลเซนส์-ลิมิตไลเซนส์” หวังต่อยอดธุรกิจ

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้แก้ไขประกาศเกี่ยวกับการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตสามารถประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหลักทรัพย์ตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ โดยสามารถดำเนินการครอบคลุมทั้งหมด หรือเลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ได้

ประกอบด้วย 1.การจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์) เพื่อรองรับการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงค์) และการให้บริการ wealth advisor 2.นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ใบทรัสต์ของทรัสต์ที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนรวม หรือหลักทรัพย์อื่นที่ ก.ล.ต.กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ 3.เป็นที่ปรึกษาการลงทุน 4.เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล 5.เป็นตัวแทนด้านการตลาดของไพรเวตฟันด์ และ 6.ทำธุรกิจงานติดต่อหรือแนะนำบริการของบริษัทหลักทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ ใบอนุญาตไพรเวตฟันด์นั้น เบื้องต้น ก.ล.ต.จะแยกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.full license (ทำได้ทั้งหมดหรือเลือกทำเฉพาะเรื่องก็ได้) และ 2.limited license (ทำได้เฉพาะการสลับกองทุนในยูนิตลิงค์) โดยขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทจะยื่นขออนุญาตตามแผนการขยายธุรกิจในอนาคต

“เราได้ไปคุยกับ ก.ล.ต.แล้ว โดยอนุญาตให้ทางบริษัทประกันชีวิตสามารถที่จะขอใบอนุญาตไพรเวตฟันด์ได้แล้ว ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องนี้ส่งไปยังสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เรียบร้อยแล้ว โดยทาง คปภ.ก็เข้าใจว่ากำลังจะผ่านอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) คปภ.ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน” แหล่งข่าวกล่าว

นายกิตติ ปิณฑวิรุจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกฎหมายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทกำลังพิจารณายื่นขอใบอนุญาตไพรเวตฟันด์แบบ full license เนื่องจากบริษัทมีแผนจะเปลี่ยนตัวแทนประกันชีวิตให้เป็นที่ปรึกษาการเงิน (financial advisor) โดยจะพัฒนาตัวแทนให้สามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ทั้งประกันชีวิต ประกันวินาศภัย กองทุนรวม และผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับโปรดักต์ทางการเงิน รวมถึงการให้คำแนะนำสลับกองทุนในยูนิตลิงค์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะบริหารจัดการเงินสด (cash management) หลังการขายอีกด้วย

“เรามองว่าค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไพรเวตฟันด์รูปแบบ limited license ประมาณ 1 ล้านบาทกับรูปแบบ full license ประมาณ 5 ล้านบาท ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ ดังนั้น คงขึ้นอยู่แต่ละบริษัทว่าจะลงทุนระบบ (system) ขนาดไหน และจ้างคนมาดูแลมากน้อยแค่ไหน อยู่ที่แผนธุรกิจ” นายกิตติกล่าว

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทค่อนข้างสนใจทำไพรเวตฟันด์รูปแบบ full license มากกว่า โดยกำลังเตรียมยื่นขอใบอนุญาต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำทุกอย่างใน 6 ประเภทที่ คปภ.เปิดให้ทำได้ เพราะปัจจุบันบริษัทสามารถดำเนินการให้บริการ wealth advisor และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (LBDU) ได้อยู่แล้ว

“เรายังไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่าง โดยเฉพาะกองทุนรวมเราก็ยังไม่อยากจะทำ รวมทั้ง venture capital ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็มีฟูเชีย เวนเจอร์ฯอยู่แล้ว โดยเราจะไม่ขอ limited license แม้ว่าจะมีค่าฟีถูกลง” นายสาระกล่าว

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต กล่าวว่า บริษัทสนใจและอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตไพรเวตฟันด์แบบ limited license เพื่อให้สามารถให้คำปรึกษา (advisor) ในการสลับกองทุนในยูนิตลิงค์ได้ง่ายขึ้น โดยในมุมของบริษัทใบอนุญาตแบบ full license ยังไม่ได้จูงใจนัก

นางภควิภา เจริญตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้า บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะยื่นขอใบอนุญาตไพรเวตฟันด์แบบใดถึงจะเหมาะสมกับแผนธุรกิจ โดยยังอยู่ระหว่างกระบวนการหารือกันภายในบริษัทอยู่

“เบื้องต้น เราอาจจะยังไม่จำเป็นต้องลงทุนทุกอย่าง เพียงแต่ต้องดูว่าทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับลูกค้าและบริษัทมากที่สุด อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการให้ความเข้าใจกับลูกค้าเรื่องกรมธรรม์ยูนิตลิงค์ และต้องฝึกอบรมตัวแทนหรือพนักงานธนาคารให้มีความเข้าใจในการแนะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างถูกต้องด้วย” นางภควิภากล่าว