สรรพากรทบทวนแก้รัษฎากร เบรกใช้ “ราคาที่ดินจริง” คิดภาษี

สรรพากรดึงกฎหมายปรับวิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ใช้ “ราคาซื้อขายจริง” แทน “ราคาประเมิน” กลับมาทบทวนใหม่ ขุนคลังสั่งให้ สศค.พิจารณาในภาพรวมไปพร้อมนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% เตรียมยืนยันเดินหน้ากฎหมายเก็บภาษีอีบิสซิเนสจาก “กูเกิล-เฟซบุ๊ก”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเรื่องการกำหนดฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กลับมาทบทวนใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เสนอไปถึงขั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว เนื่องจาก รมว.คลัง ต้องการให้พิจารณาใหม่ในภาพรวม พร้อมไปกับการศึกษาปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ สำหรับการปรับปรุงมาตรา 49 ทวิ ดังกล่าวเป็นการกำหนดให้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จะต้องใช้ราคาซื้อขายจริงหรือราคาประเมิน โดยใช้ราคาที่สูงที่สุด จากปัจจุบันที่ใช้แต่ราคาประเมินเป็นฐาน ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง

ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการให้บริการในต่างประเทศ หรือเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ อาทิ กูเกิล เฟซบุ๊ก เป็นต้น ซึ่งเสนอไปอยู่ในขั้นกฤษฎีกาแล้ว จะต้องให้ รมว.คลังยืนยันเดินหน้าต่อไปอีกที ซึ่งหากยืนยันก็เดินหน้าต่อจากขั้นกฤษฎีกาได้เลย ด้านการเก็บภาษีนิติบุคคลจากธุรกิจที่ให้บริการข้ามชาติ ปัจจุบันยังเป็นโจทย์ใหญ่ของโลก โดยตอนนี้ก็มีบางประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เสนอเก็บภาษีบริการดิจิทัล 2-3% ของรายรับที่เกิดขึ้นในประเทศนั้น ๆ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป

“ตัวภาษีอีบิสซิเนสได้รายงาน รมว.คลังแล้ว ซึ่งก็เห็นด้วยว่าต้องยืนยันกลับไปที่กฤษฎีกา เพราะร่างเดิมก็ศึกษามานานแล้ว โดย รมว.คลังก็เห็นว่าเรื่องนี้ต้องสร้างความเท่าเทียมระหว่างคนไทยที่ให้บริการในประเทศกับต่างชาติที่มาให้บริการในไทย และตอนนี้หลายประเทศก็เริ่มนำภาษีอีบิสซิเนสมาใช้ อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลี เป็นต้น แต่เบื้องต้นที่ตอบโจทย์ภาษีอีบิสซิเนสก็คือการเก็บ VAT ส่วนการเก็บภาษีนิติบุคคลยังศึกษากันอยู่” นายเอกนิติกล่าว

สำหรับกรณีนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% นั้น นายเอกนิติ กล่าวว่า ต้องขึ้นกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สรุปออกมาว่า หากดำเนินการจะลดภาษีในรูปแบบใด ซึ่งเมื่อ สศค.ได้ข้อสรุปแล้วทางกรมสรรพากรจึงจะสามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้แค่ไหน อย่างไรก็ดี การลดภาษีทุกกรณีย่อมมีผลกระทบต่อรายได้รัฐอยู่แล้ว ส่วนนโยบายไม่เก็บภาษีค้าขายออนไลน์ 2 ปีนั้นก็ต้องพิจารณาอีกที เพราะหลักการคือต้องสร้างความเท่าเทียมให้ผู้ค้าไม่ว่าออนไลน์หรือออฟไลน์

“จากที่กรมได้ศึกษาไว้ ไม่ว่าจะลดภาษีประเภทไหน ก็กระทบรายได้ โดยต้องไม่ลืมว่า รายได้ของกรมสรรพากรมีสัดส่วนกว่า 70-80% ของรายได้ทั้งประเทศ ดังนั้น หายไปก็อาจจะกระทบเสถียรภาพทางด้านการคลังได้ อย่างไรก็ดี ก็ต้องรอนโยบายว่าจะตัดสินใจอย่างไร”

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า ขณะที่ในส่วนภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สิทธิประโยชน์ภาษีจะหมดสิ้นปีนี้ ในขณะนี้กรมยังยืนยันตามแนวทางแผนพัฒนาตลาดทุน คือ สิทธิประโยชน์ภาษีจะจบในปีนี้ แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ต้องขึ้นกับนโยบาย

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมสรรพากรเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2562 เกินเป้าหมายอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะทำได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2563 ยังคงเป้าหมายที่ 2.16 ล้านล้านบาท