เงิน​บาทเปิด​ตลาด​แข็งค่า​ จับตาเฟดลดดอกเบี้ยสัปดาห์​นี้​

(แฟ้มภาพ)เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
เงิน​บาทเปิด​ตลาด​แข็งค่า​ที่ระดับ​ 30.83 บาท/ดอลลาร์​ จับตาเฟดลดดอกเบี้ยสัปดาห์​นี้​

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (30​ ก.ค.)​ ที่ระดับ 30.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 30.93 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​  โดย​กรอบเงินบาทวันนี้อยู่ระหว่าง​ 30.80-30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​

โดยในสัปดาห์นี้ เชื่อว่านักลงทุนฝั่งเอเชียจะไม่รีบร้อนทั้งด้านซื้อหรือขาย เนื่องจากมีทั้งการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นและสหรัฐฯคั่นอยู่ในช่วงกลางสัปดาห์ ในระยะสั้นดอลลาร์จึงมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ตามทิศทางสกุลเงินฝั่งยุโรปที่ยังเผชิญกับปัญหาการเมือง

นอกจากนี้ นักลงทุนก็ควรระวังว่าตลาดอาจเข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (ดอลลาร์แข็งค่า) ถ้าเฟดไม่ลดดอกเบี้ยตามที่หวัง

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวสูงก็ยังคงมีอยู่ ถ้าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์ รายงานออกมาแย่กว่าคาด ความหวังว่าธนาคาร​กลางสหรัฐ​ (เฟด)​ จะ“ลด”ดอกเบี้ยมากขึ้นในปีนี้ก็จะมีมากขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่ากลับลงได้ในท้ายสัปดาห์เช่นกัน

ทั้งนี้​ กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้อยู่ที่ 30.70-31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​

นายจิติพล​ กล่าวด้วยว่า​ สำหรับ​เศรษฐกิจทั่วโลกสัปดาห์นี้​ มีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย​ เริ่มต้นในวันนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance Rate) ที่ระดับ -0.1%
แม้กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น จะเปิดเผยยอดการผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production)ในเดือนมิถุนายน หดตัว 2.0% จากเดือนก่อน ชี้ว่าเศรษฐกิจในเอเชียยังน่ากังวล

ต่อมาในวันพุธ มองว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรปจะรายงานการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ที่ระดับ 1.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 1.2% จากภาคการผลิตและการลงทุนที่ชะลอตัว

น่าสนใจที่สุดคือในวันพฤหัส มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะ “ลด” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) 0.25% ลงมาที่ระดับ 2.00-2.25% เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ คาดว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ (ISM Manufacturing PMI) จะลดลงสู่ระดับ 51.5 จุด พร้อมกันกับที่ Markit จะรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีน (Caixin Manufacturing PMI) ในระดับ 49.6 จุดจากยอดการส่งออกที่ซบเซา

ส่วนในประเทศ​ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของเดือนกรกฎาคมขยายตัวเพียง 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่ผ่านมา ด้วยเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับตำ่เพียง 0.5%

และท้ายในวันศุกร์ คาดว่ากระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payrolls) เดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 1.8 แสนราย ส่งผลให้อัตราว่างงานสามารถทรงตัวได้ในระดับ 3.7% ซึ่งถือว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งมาก