เงินบาทแข็งค่า หลังทรัมป์ทวิตฯ กดดันเฟดลดดอกเบี้ย

แฟ้มภาพ
ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น หลังทรัมป์ทวิตฯ กดดันเฟดลดดอกเบี้ย จับตาการประชุมนโยบายการเงิน 31 กรกฎาคมนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/7) ที่ระดับ 30.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาด วันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 30.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังประธานาธิบดี
ทรัมป์ ได้ระบุข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ไม่ได้ปรับนโยบายมากพอ เมื่อเทียบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แม้ตลาดจะคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมที่จะถึงนี้ก็ตาม และหากเฟดดำเนินการลดดอกเบี้ยจริงก็คงส่งผลกระทบไม่มาก เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปและจีน ที่จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และอัดฉีดเงินเข้าระบบกันมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตในประเทศขายสินค้าได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังแนะนำให้เฟดควรลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับการปรับลดในขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง โดยกล่าวว่าเฟดได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงเกินไปในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่ควรทำพลาดอีก ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 30-31 กรกฎาคมนี้ โดยคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.82-30.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (30/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1137/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 1.1140/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโร รวมถึงค่าเงินปอนด์ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงนี้ ภายหลังนายโอมินิก ร้าบ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ได้ขู่ที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบไม่มีข้อตกลงในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ หากสหภาพยุโรป ยังไม่เลิกหัวแข็งและกลับมาเจรจากับอังกฤษใหม่  คำแถลงดังกล่าวมีขึ้น ภายหลังมีการเปิดเผยว่านายฌอง-คล็อต ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ได้กล่าวต่อนายบอริส จอห์นสัน ทางโทรศัพท์ว่า อียูจะไม่ทำการเจรจาครั้งใหม่กับอังกฤษ โดยจะยึดข้อตกลงที่เคยทำไว้กับนางเทเรซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เท่านั้น หากจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลง ข้อเสนอจะต้องสอดคล้องกับฉบับดังกล่าวเท่านั้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1130-1.1146 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1144/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (30/7) เปิดตลาดที่ระดับ 108.79/80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 108.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าภายหลังธนาคารกลางญี่ปุนมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% พร้อมทั้งส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.53-108.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.54/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน มิ.ย. (30/7) ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือน มิ.ย. (30/7) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (30/7) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ค. จาก ADP (31/7) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (31/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.ค. จากมาร์กิต (1/8) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. (2/8) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน มิ.ย. (2/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.6/-2.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.5/0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ