แห่ออก “กองบอนด์” ก่อนเสียภาษี 12 บลจ.เร่งเครื่องครึ่งปีทะลุ 5 แสนล้านบาท

บลจ.แห่ออกกองทุนรวมตราสารหนี้ขายก่อนมาตรการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% มีผล 20 ส.ค.นี้เป็นต้นไป เปิดข้อมูล “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” พบครึ่งปีแรก 12 บลจ.ออกกองทุนใหม่แล้ว 218 กอง มูลค่ากว่า 5.6 แสนล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีออกขายแค่ 22 กอง “เอ็มเอฟซี” เตรียมออกกองใหม่อีก 1-2 กองก่อนถูกเก็บภาษี “บลจ.กสิกรไทย” ชวนซื้อเทอมฟันด์ ล็อกผลตอบแทนก่อนถูกเก็บภาษี ฟากสมาคมตลาดตราสารหนี้ฯจับตาผลกระทบหลังเริ่มเก็บภาษี หวั่นสภาพคล่องตลาดหด

นายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานการจัดการกองทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล เปิดเผยว่า ช่วงนี้จะเห็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่งแย่งกันออกกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่กันมาก โดยเร่งออกประเภทกองทุนรวมระยะยาว หรือกองทุนรวมประเภทเทอมฟันด์เป็นส่วนใหญ่ เพราะกองทุนประเภทนี้สามารถล็อกผลตอบแทนระยะยาวได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมในอัตรา 15% ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.นี้เป็นต้นไป

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเก็บภาษีการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมที่ 15% ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2562 เป็นต้นไป อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความต้องการออกกองตราสารหนี้ใหม่ ๆ เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ผลโดยตรง เนื่องจากการที่ บลจ.หลายแห่ง ๆ ทยอยออกกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่ในช่วงนี้ เป็นการช่วยเสริมช่องว่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากกว่า อย่างไรก็ดี อาจจะยังประเมินไม่ได้ในขณะนี้ว่าจะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามามากน้อยแค่ไหน เนื่องจากตลาดช่วงนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง

“ปีนี้อุตสาหกรรมกองทุนรวม คนค่อนข้างจะกังวล ขณะเดียวกันผลตอบแทนของตราสารหนี้ตอนนี้ก็ไม่ได้โดดเด่นมาก มีเงินไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้นในระดับหนึ่ง และเข้ามาในตราสารหนี้ระยะยาว” นายวศินกล่าว

นายวศินกล่าวอีกว่า สำหรับ บลจ.กสิกรไทยขณะนี้กำลังพิจารณาช่องว่างผลิตภัณฑ์ (product gap) เพื่อทยอยออกกองทุนใหม่มาปิด ซึ่งภายในเดือน ส.ค.นี้ บริษัทมีแผนออกกองทุนรวมตราสารหนี้ใหม่ 1 กอง มูลค่ากองทุนประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

ล่าสุด นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทยเปิดเสนอขาย กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน HG (KFF6MHG) ประมาณการผลตอบแทนไว้ที่ 1.50% ต่อปี และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปี GR (KFF1YGR) ประมาณการผลตอบแทนไว้ที่ 1.65% ต่อปี โดยเปิดเสนอขายในระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-5 ส.ค.นี้ ทั้งนี้ กองทุนจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ในอัตรา 15% เนื่องจากกองทุนได้เปิดเสนอขายก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึง 1 เดือน กองทุนก็จะถูกเก็บภาษีแล้ว

ขณะที่นายสุเมธา ลิ่วเฉลิมวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวว่า ก่อนจะถึงวันที่ 20 ส.ค.นี้ บริษัทคาดว่าจะออกกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศอีก 1-2 กอง เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะต้องเสียภาษี หลังจากช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดขายกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทเทอมฟันด์ อายุ 3 ปี เพื่อเสนอขายนักลงทุนรายใหญ่ โดยลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่ 5 แสนบาท ที่มีอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ในอัตราเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.8% ต่อปีของมูลค่าหน่วยลงทุน เพื่อให้นักลงทุนที่ลงทุนในช่วงนี้สามารถซื้อกองทุนรวมโดยไม่ถูกหักภาษีจากการที่รัฐจะเก็บภาษีการลงทุนตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม

“หลังวันที่ 20 ส.ค.นี้ไป บริษัทก็ยังมีแผนจะออกกองทุนรวมใหม่ ๆ ซึ่งแน่นอนว่ายีลด์ที่ได้รับอาจจะลดลง ดังนั้นคงต้องหากลยุทธ์ว่า ทำอย่างไรจะทำให้ยีลด์เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น สินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูง (high yield) ก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น” นายสุเมธากล่าว

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การที่ บลจ.ออกกองทุนขายกันมากช่วงก่อนวันที่ 20 ส.ค.นี้ บอกได้ไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวกับการเก็บภาษีหรือไม่ แต่เชื่อได้ว่าเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่ซื้อช่วงนี้ เพราะอย่างน้อยก็ไม่โดนเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% แน่นอน ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังอาจจะต้องมาพิจารณาว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะมีบอนด์เก่าที่ถือมาก่อนหน้านี้ ซึ่งจะไม่ถูกเก็บภาษี ส่วนภาษีจะเก็บเฉพาะบอนด์ใหม่ที่เติมเข้ามาในกองเท่านั้น

“ผลกระทบคงไม่น่าจะรุนแรง เพียงแต่ผลตอบแทนที่เคยได้รับเต็ม ๆ จะค่อย ๆ ทยอยลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งขึ้นอยู่กับบอนด์ใหม่ที่เติมเข้ามาหลังวันที่ 20 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ดี อาจจะมีผลกระทบในมุมตลาดรองซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า หลังผ่านวันที่ 20 ส.ค.นี้ไปแล้ว บอนด์เก่าที่เมื่อก่อนนี้อาจจะมีการซื้อขายกัน ต่อไปอาจจะไม่มี บลจ.นำออกมาขายอีก ซึ่งอาจจะทำให้สภาพคล่องลดลงไปได้” นางสาวอริยากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ตั้งแต่ต้นปีถึง ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2562 (YTD) พบว่า มีจำนวนกองทุนรวมตราสารหนี้เปิดใหม่ทั้งสิ้น 218 กอง เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีออกขายเพียง 22 กอง โดยประเภทที่มีการเปิดใหม่สูงสุด คือ Foreign Investment Bond Fix Term เปิดใหม่ 182 กอง, Bond Fix Term 20 กอง และ High Yield Bond Fix Term 11 กอง ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองที่เปิดใหม่รวม 563,438,992,632 บาท ซึ่งประเภทกองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด คือ Foreign Investment Bond Fix Term จำนวน 532,379,336,340 บาท, Bond Fix Term 21,501,098,333 บาท และ High Yield Bond Fix Term 8,068,543,644 บาท