ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หลังเฟดยังไม่ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/8) ที่ระดับ 30.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (31/7) ที่ระดับ 30.75/76 บาท/ดอลลาร์ หลังเมื่อคืนวาน (31/7) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 8 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.00-2.25 ตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐได้ประกาศที่จะยุติการปรับลดงบดุลเร็วกว่ากำหนดการเดิมถึง 2 เดือน ซึ่งเดิมทีได้กำหนดไว้ว่าจะยุติในเดือนกันยายน โดยเฟดจะระงับการลดการถือครองพันธบัตรที่ได้ทำการซื้อไว้ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

อย่างไรก็ตามนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นครั้งนี้ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปรับดอกเบี้ยขาลงในระยะยาว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการปรับลดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยนายพาวเวลมองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียง Mid-cycle Adjustment หรือ การปรับนโยบายช่วงกลางวัฏจักร อีกทั้งการปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้เป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ ให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและกระตุ้นเงินเฟ้อ พร้อมกับป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้นายพาวเวลได้กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยรับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ร่วมกับการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ถึงแม้ว่าการใช้จ่ายภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอ่อนแอ และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้เมื่อวาน (31/7) ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่ง ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับขึ้น 156,000 ตำแหน่ง

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ ระหว่างวัน (1/8) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 103.00 ขยายตัวร้อยละ 0.98 เมื่อเปรียบเทียบรายปี ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.00 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.83-30.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/8) ที่ระดับ 1.1047/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/7) ที่ระดับ 1.1146/48 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังคำแถลงการณ์ของนายพาวเวลซึ่งได้ส่งสัญญาณว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปรับดอกเบี้ยขาลง นอกจากนี้ระหว่างวันมีรายงานจากมาร์กิตว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต ประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาอยู่ที่ 46.5 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อยว่าจะอยู่ที่ 46.4 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1030-1.1080 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1040/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (1/8) ที่ระดับ 109.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (31/7) ที่ระดับ 108.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยน
อ่อนค่าลงสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนายพาวเวลประธานเฟดได้แถลงว่าการปรับดอกเบี้ยลงของเฟดในครั้งนี้ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของดอกเบี้ยขาลงในระยะยาว อีกทั้งระหว่างวัน (1/8) นายมาซาโยชิ อามามิยะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า แบงก์ชาติญี่ปุ่นได้เตรียมพร้อมที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อเตรียมการณ์ไว้ ภายหลังจากเฟดประกาศลดดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.69-109.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.04/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหราชอาณาจักร (1/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมจากมาร์กิต (1/8), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคม (2/8), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานมิถุนายน (2/8)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.30/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.50/+0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ