เฟดลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกในรอบ 11 ปี

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ หลังจากตลาดหยุดทำการในวันจันทร์ (29/7) เนื่องในวันหยุดชดเชยวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยค่าเงินบาทเปิดตลาด ในวันอังคาร (30/7) ที่ระดับ 30.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 30.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเทียบกับค่าเงินสกุลหลักจากแรงเทขายทำกำไรหลังตัวเลขประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐ ออกมาที่ระดับ 2.1% สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 1.8%

อย่างไรก็ดีในช่วงต้นค่าเงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากนักลงทุนรอดูผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อมาในวันพุธ (31/7) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 8 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.00-2.25 ตามที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2551 อย่างไรก็ตาม นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นครั้งนี้ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการปรับดอกเบี้ยขาลงในระยะยาว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการปรับลดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยนายพาวเวลมองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียง Mid-cycle Adjustment หรือ การปรับนโยบายช่วงกลางวัฏจักร อีกทั้งการปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้มีเป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ ให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการกระตุ้นเงินเฟ้อ พร้อมกับป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า

แต่ในช่วงคืนวันพฤหัสบดี (1/8) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบสินทรัพย์ปลอดภัย หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ได้ทวีตข้อความระบุว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10% จากสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป โดยเขาระบุว่า จีนไม่ยอมทำตามสัญญาในการซื้อสินค้าเกษตรจำนวนมากจากสหรัฐ ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล และเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนักลงทุนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศไทยหลังจากที่เกิดเหตุระเบิดหลายจุดทั่ว กทม.ในช่วงคืนวันพฤหัสบดี (1/8) และในวันศุกร์ (2/8) ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.70-30.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 30.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันอังคาร (30/7) ที่ระดับ 1.1142/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 1.1110/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ จากแรงเทขายทำกำไรในสกุลเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ดีในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ถูกกดดันจากเรื่องการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ของอังกฤษ นายโดมินิค แรบ ได้ออกมาขู่สหภาพยุโรปว่า หากสหภาพยุโรปยังคงดื้อ และไม่เจรจากับอังกฤษอีกครั้ง อังกฤษก็จะถอนตัวจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลงใด ๆ

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรได้ฟื้นตัวในช่วงกลางสัปดาห์หลังมีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของภูมิภาคออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีประจำเดือนในกรกฎาคมออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเปรียบเทียบรายเดือน มากกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ทั้งมีรายงานยอดค้าปลีกของเยอรมนีประจำเดือน กรกฎาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 สูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ  0.5

อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังการแถลงการณ์ของนายพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1025-1.1160 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 1.1097/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันอังคารที่ (30/7) ที่ระดับ 108.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 108.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) โดยบีโอเจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับเดิมที่ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุสิบปีไว้ที่ใกล้ 0% นอกจากนี้บีโอเจยังแถลงว่าพร้อมจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอย่างไม่ลังเลหากจำเป็น แต่ในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย จากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 106.78-109.31 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 106.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ