เงิน​บาท​เปิดตลาดแข็งค่า​ คาด​ 7​ ส.ค. กนง.คงดอกเบี้ย แม้ศก.ชะลอตัว

แฟ้มภาพ

เงิน​บาท​เปิดตลาด​แข็งค่า​ที่​ 30.75 บ./ดอลลาร์​ คาด กนง.คงดอกเบี้ย​ นักวิเคราะห์​แนะจับตา​ทิศทาง​นโยบาย​การเงินธนาคาร​กลางทั่วโลก​ตลอดสัปดาห์​

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ประธานนักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า​ ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (5​ ส.ค.)​ ที่ระดับ 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 30.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​

โดยในสัปดาห์นี้ เชื่อว่านักลงทุนจะระวังตัวมากขึ้น จากตลาดการเงินที่เข้าสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ตั้งแต่ท้ายสัปดาห์ก่อน ขณะที่ในระยะสั้นก็มีการประชุมธนาคารกลางมากมาย มีความเป็นไปได้สูงที่ทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศฝั่งเอเชียมากนัก

นอกจากนี้ทิศทางของเงินหยวนก็มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากหยวนอ่อนค่ารับคำขู่ของทรัมป์เรื่องการเก็บภาษีจากระดับ 6.85 ขึ้นไปที่ 6.95 หยวนต่อดอลลาร์ ถ้าสัปดาห์นี้อัตราแลกเปลี่ยนแตะระดับ 7.00 หยวนต่อดอลลาร์ ก็อาจส่งผลให้เกิดแรงขายสกุลเงินเอเชียอื่นๆตามมาอีกระลอก

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่อ่อนค่าเร็วนักเนื่องจากในระยะสั้นยังคงมีแรงขายทองที่ราคาปรับตัวขึ้นพร้อมกันเข้ามากดดันอยู่ในช่วงนี้

สำหรับ​กรอบเงินบาทวันนี้​อยู่​ที่​ 30.70-30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​ ส่วน​กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.60-31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ​

ดร.​จิติพล​ กล่าวอีกว่า​ เศรษฐกิจและตลาดการเงินสัปดาห์นี้ แนะนำจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินทั่วทั้งเอเชีย

เริ่มต้นวันอังคาร คาดว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะมีมติ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) ที่ระดับ 1.00% หลังลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง รวม 0.50% ไปแล้วนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ ธนาคารกลางต่างๆในฝั่งตะวันออกก็มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลง ไล่ตั้งแต่ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ที่ตลาดคาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash Rate) 0.25% สู่ระดับ 1.25% ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการใช้นโยบายการเงิน

เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่คาดว่าจะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) 0.25% สู่ระดับ 5.50% นับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปีนี้ ต่อด้วยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ที่จะ“ลด”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repurchase Rate) ลง 0.25% สู่ระดับ 4.25% ในวันพฤหัสฯ

“วันพุธ ต้องจับตาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เช่นกัน เราคาดว่ากนง.จะ“คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) ที่ระดับ 1.75% แม้โดยรวม เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มขยายตัวต่ำจากการค้าโลกที่ซบเซาและอัตราเงินเฟ้อก็ชะลอตัวลงเรื่อยๆ แต่ธปท.กลับมีความเป็นห่วงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ จึงมีความเป็นไปได้น้อยที่จะพลิกมุมมองให้ผ่อนคลายหรือลดดอกเบี้ยเหมือนที่อื่น” ดร.จิติพลกล่าว