ค่าเงินเยนแข็งค่าในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังตลาดกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2562 ค่าเงินเปิดตลาดเช้าวันที่ 5/8) ที่ระดับ 30.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 30.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 164,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เล็กน้อยที่ระดับ 165,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับ 3.7% นอกจากนี้ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 0.3% สู่ระดับ 5.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน มิ.ย. จากระดับ 5.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ก.พ. โดยการส่งออกสินค้าลดลง 2.8% ส่วนการนำเข้าสินค้าลดลง 2.2% ซึ่งสหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีนลดลง 0.8% ในเดือน มิ.ย. สู่ระดับ 3.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขนำเข้าจากจีนลดลง 0.7% ขณะที่ส่งออกทรงตัว

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. ขณะที่จีนได้ประกาศที่จะดำเนินมาตรการตอบได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองโดยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงจนแตะระดับ 7 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ และระบุว่าการตัดสินใจของ ปธน.ทรัมป์ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกนั้น เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล และไม่รับผิดชอบ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.78-30.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.82/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ ตลาดจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% โดยมองว่า กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับปัจจัยความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพในระบบการเงิน ท่ามกลางภาวเศรษฐกิจที่แม้จะมีแรงส่งชะลอลง แต่ยังคาดหวังผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังที่จะประคองภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้ปรับดีขึ้นจากครึ่งแรกของปี

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (5/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1124/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 1.1096/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) คอมโดสิตขั้นปลายสำหรับยูโรโซนของไอเอชเอส มาร์กิต ลดลงสู่ระดับ 51.5 ในเดือน ส.ค. จาก 52.2 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งข้อมูล PMI นี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในยูโรโซนจะขยายตัวเพียง 0.1% ในไตรมาส 3 ซึ่งต่ำกว่า 0.3% ในผลสำรวจของรอยเตอร์ในเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1105-1.1135 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1148/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (5/8) เปิดตลาดที่ระดับ 106.04/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 106.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งนายโยชิกิ ทาคูอูชิ รมช.คลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวหลังการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลัง, ธนาคารกลางญี่ปุ่น และสำนักงานบริการทางการเงินว่าญี่ปุ่นพร้อมจะดำเนินการในตลาดเงิน ถ้าการแข็งค่ามากเกินไปของเยนมีผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.80-106.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.90/90เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุท้ายเดือน ก.ค.จากมาร์กิต (5/8) ดัชนีภาคบริการเดือน มิ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (5/8) ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน มิ.ย.(6/8) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (8/8) สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน มิ.ย. (8/8) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. (9/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.2/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.8/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ