“ก.ล.ต.” เร่งสปีดคดีปั่นหุ้น โชว์ผลมาตรการลงโทษทางแพ่ง

ต้องยอมรับว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในยุค “รื่นวดี สุวรรณมงคล” นั่งเลขาธิการ ก.ล.ต. เรียกความตื่นเต้น ทั้งการทำงานในองค์กรและตลาดทุน โดยเฉพาะปฏิวัติการทำงานลบภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองเป็น “เสือกระดาษ”

ตั้งแต่การประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้เข้ามาร่วมทำหน้าที่ในคณะทำงานสอบสวนคดีของ ก.ล.ต. เพื่อให้กระบวนการทำงานสอบสวนดำเนินคดี “ขบวนการปั่นหุ้น” มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น และเป็นครั้งแรกที่มีการแต่งตั้ง “วรัชญา ศรีมาจันทร์” เป็นรองเลขาธิการ ก.ล.ต. เข้ามาดูแลสายงานด้านกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง

ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายด้วย “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 ธ.ค. 59 ที่ช่วยให้การบังคับคดีรวดเร็วขึ้น

“ศักรินทร์ ร่วมรังษี” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. เล่าว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ มีสถิติค่าปรับการดำเนินคดีทางแพ่ง 584 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ปรับอยู่ที่ 135 ล้านบาท โดยมีผู้ถูกกล่าวโทษ 22 ราย จาก 4 คดี และยังมีผู้ถูกกล่าวโทษทางแพ่งแต่ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ซึ่งได้ส่งฟ้องศาลแพ่งจำนวน 35 ราย รวมเงินที่ขอให้ศาลสั่งปรับสูงสุด 2,235 ล้านบาท โดยตั้งแต่การบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งมีการดำเนินคดีปรับทางแพ่งแล้ว 901 ล้านบาท (ดูตาราง)

“มาตรการลงโทษทางแพ่ง เป็นเครื่องมือที่ทำให้ ก.ล.ต. จัดการคดีอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะคดีปั่นหุ้น การใช้มาตรการลงโทษทางอาญาอย่างเดียวอาจไม่เกิดประสิทธิภาพ เพราะต้องพิสูจน์ความผิดตามหลักการจนปราศจากข้อสงสัย ซึ่งมีขั้นตอนค่อนข้างยาก ใช้เวลาในการดำเนินคดีนาน ไม่เหมาะกับคดีทางเศรษฐกิจ”

โดยกรณีปั่นหุ้นการจะพิสูจน์ว่าเป็นการซื้อขายผิดปกติ เช่น การใช้ข้อมูลอินไซด์หุ้น ซึ่งการพิสูจน์เรื่องนี้ไม่ง่าย จึงต้องใช้มาตรการทางแพ่ง

ปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. มีการดำเนินคดีความผิดต่าง ๆ ด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งมากกว่า 90% ประเภทความผิดในตลาดทุนที่สามารถใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้มักเกี่ยวกับความผิดเรื่องความไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น ไม่ว่าจะเป็น 1.การเปิดเผยข้อมูลเป็นความเท็จ หรือการวิเคราะห์คาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนข้อมูล 2.การเอาเปรียบผู้ลงทุน เช่น การซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (insider trading)

และ 3.การสร้างราคาหลักทรัพย์หรือปั่นหุ้น เป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดโดยคนหรือคอมพิวเตอร์ โดยการใช้ระบบ AI ซื้อขายหุ้นก็อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯได้ หากมีการส่งคำสั่งในลักษณะที่เป็นเหตุให้ระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯล่าช้าหรือหยุดชะงัก ซึ่งก็จะมีการพัฒนาระบบ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบพฤติกรรมการปั่นหุ้นเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และ 4.ผู้ที่ใช้หรือยอมให้ใช้บัญชี นอมินีเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นแทน เพื่อเอาไปปั่นหุ้น

“สำหรับบทลงโทษทางแพ่งจะปรับถึง 2 เท่าของผลประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งให้นำผลประโยชน์คืนกลับมาด้วย แต่ถ้าไม่มีผลประโยชน์จะต้องจ่ายค่าปรับขั้นต่ำ 5 แสนบาท โดยการพิจารณาจะใช้มาตรการทางแพ่งได้ต้องเป็นคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) ซึ่งประกอบด้วย อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นคนพิจารณา” นายศักรินทร์กล่าว

ถ้ายอมจ่ายค่าปรับจะทำบันทึกยินยอม คดีอาญาก็จะยุติ ไปด้วย แต่หากไม่ยอมก็จะไปสู่กระบวนการฟ้องศาลทั้งทางแพ่งและอาญาต่อไป

มาตรการลงโทษทางแพ่ง จึงเป็นเครื่องมือ “สำคัญ” ที่สำนักงาน ก.ล.ต. งัดมาสู้กับแก๊งปั่นหุ้น ที่เปรียบเสมือน “หนามยอกเอาหนามบ่ง” เมื่อชอบสร้างราคาก็ต้องเจอโทษปรับดับเบิล

ซึ่งในยุคที่ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงาน ก.ล.ต. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามชักจูงให้ประชาชนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และเข้าถึงตลาดทุนมากขึ้น ดังนั้น ภารกิจสำคัญของ ก.ล.ต. ก็คือต้องสร้างระบบนิเวศตลาดทุนที่ดีมีคุณภาพ รวมถึงยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน ที่จะถูกเอาเปรียบจากกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ให้มากขึ้น