ค่าเงินบาททรงตัว จับตาการตอบโต้ทางการค้าเพิ่มเติมระหว่างจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/8) ที่ระดับ 30.81/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (5/8) ที่ระดับ 30.80/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังถูกกดดันหลังจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงแตะระดับ 53.7 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ต่ำกว่าระดับ 55.1 ในเดือน มิ.ย.
และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐจะดีดตัวสู่ระดับ 55.5 โดยการร่วงลงของดัชนี ISM ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อใหม่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2559

นอกจากนี้นักลงทุนยังหันเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ทองคำและเงินเยน หลังกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ระบุโจมตีประเทศจีนว่าทำการปั่นค่าเงิน และทางสหรัฐจะร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อขจัดการแข่งขันที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรมของจีน ทั้งนี้ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ยืนยันว่าจีนได้กระทำการปั่นค่าเงิน ด้วยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงต่ำกว่าระดับ 7 ดอลลาร์เมื่อวานนี้ แตะที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยสหรัฐกล่าวหาว่าธนาคารกลางจีนได้รับรู้มาโดยตลอดว่ามีการปั่นค่าเงินเกิดขึ้น และยังคงเตรียมพร้อมที่จะกระทำการดังกล่าวอีกในอนาคต ซึ่งการทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดคำมั่นสัญญาที่จีนเคยให้ไว้ว่าจะไม่ใช้วิธีการลดค่าเงินเพื่อหวังผลด้านการแข่งขัน ในฐานะที่จีนเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม G20 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.74-30.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (6/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1237/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/8) ที่ระดับ 1.1111/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการจากไอเอชเอส มาร์กิตของเยอรมนี ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.5 ในเดือน ก.ค. จากระดับ 55.8 ในเดือน มิ.ย. รวมถึงดัชนีผู้จัดากรฝายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของฝรั่งเศส ขยับลงแตะระดับ 52.6 ในเดือน ก.ค. จากระดับ 52.9 ในเดือน มิ.ย. ตัวเลขที่ย่ำแย่สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวในกลุ่มประเทศยูโรโซน และเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1188-1.1238 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1200/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (6/8) เปิดตลาดที่ระดับ 106.22/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (5/8) ที่ระดับ 106.07/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนลดการถือครองสกุลเงินเยนเพื่อทำกำไร ภายหลังจากเมื่อวานนี้ต่อเนื่องจากช่วงเช้าของวันนี้ นักลงทุนได้เพิ่มการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากกรณีพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ระอุขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.11-107.01 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน มิ.ย. (6/8) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (8/8) สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน มิ.ย. (8/8) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.ค. (9/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.0/-1.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.0/+0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ