น็อนแบงก์ตั้งรับเกณฑ์คุม DSR คาด ธปท.ใช้วิธีขอความร่วมมือ

ชุติเดช ชยุติ

น็อนแบงก์ตั้งท่ารับมือ ธปท.คุมปล่อยกู้ผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ผู้บริหาร “เคทีซี” คาดแบงก์ชาติใช้วิธีขอความร่วมมือน็อนแบงก์ใช้มาตรการเดียวกับฝั่งธนาคารพาณิชย์ แจงปกติบริษัทเข้มพิจารณารายได้ โดยดูทั้ง “รายได้ประจำ-รายได้อื่น” อยู่แล้ว ฟาก “กรุงศรีออโต้” ไม่ห่วงผลกระทบ ยันบริษัทมีมาตรการบริหารความเสี่ยงในเชิงลึกอยู่แล้ว ชี้ประเมินเครดิตลูกค้าตาม “รายได้-รายได้ต่อค่างวด”

นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เปิดเผยว่า แนวทางการควบคุมการให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดเกณฑ์ภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) นั้น บริษัทยังไม่ได้ทราบถึงรายละเอียดดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา ธปท.หารือกับสมาคมธนาคารไทยเท่านั้น ขณะที่น็อนแบงก์ (ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) ยังไม่ได้มีการพูดคุยหรือเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างไรก็ดี คาดว่า ธปท.น่าจะขอความร่วมมือให้น็อนแบงก์ใช้มาตรการเดียวกัน

“ใน DSR จะมีสองตัวคือ หนี้กับรายได้ ซึ่งฝั่งรายได้ของแบงก์รู้แล้วว่าวิธีคิดอย่างไร แต่เขาอาจจะไม่รู้ว่าน็อนแบงก์คิดอย่างไร เวลานับรายได้นับอย่างไร โอที (ค่าล่วงเวลา) โบนัสนับหรือไม่ หรือสมมุติลูกค้าไปรับจ็อบ ต้องนับรวมด้วยหรือเปล่า ส่วนฝั่งหนี้ก็ยังไม่สรุปว่าเวลานับหนี้นับอย่างไร หนี้มีหลักประกัน ไม่มีหลักประกัน นับต่างกันไหม นับที่วงเงินหรือค่ารายเดือนที่จ่าย” นายชุติเดชกล่าว

นายชุติเดชกล่าวว่า คาดว่า ธปท.อาจจะอยู่ในโหมดขอความร่วมมือก่อน ว่าอะไรที่เห็นว่าเกินตัวก็ไม่ควรปล่อยกู้ ซึ่งปัจจุบันวิธีการคิดของเคทีซีจะพิจารณาจากรายได้ประจำและรายได้อีกส่วนหนึ่งประกอบการปล่อยสินเชื่อ

นางกฤติยา ศรีสนิท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อยุธยาแคปปิตอล ออโต้ ลีส (กรุงศรีออโต้) กล่าวว่า แนวทางการควบคุม DSR ของ ธปท.ไม่กระทบกับบริษัท เพราะบริษัทมีมาตรการบริหารความเสี่ยงในเชิงลึกอยู่แล้ว โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นปัจจัยหลัก ซึ่งจะมีเครดิตสกอริ่ง (credit scoring) ในการประเมินการปล่อยกู้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับมาตรฐานของการปล่อยสินเชื่อไม่ให้หละหลวมจนเกินไป ซึ่งไม่ว่าภาครัฐจะออกมาตรการอะไรออกมา บริษัทก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม

โดยปัจจุบัน ธปท.ได้ขอข้อมูลจากแบงก์พาณิชย์รวมถึงน็อนแบงก์ไปแล้ว เรียกว่า “soft control” ในเรื่องสินเชื่อยานยนต์หรือเช่าซื้อ โดย ธปท.ต้องการดูว่าสัดส่วนในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน หรือลูกค้ากลุ่มเปราะบางแต่ละสถาบันการเงินมีการดูแลอย่างไร

“กรุงศรีออโต้มีการส่งข้อมูลให้แบงก์ชาติตลอด ประกอบกับการอนุมัติสินเชื่อของบริษัทเองก็จะพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ไม่ได้กระตุ้นให้ลูกค้ามีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ฉะนั้นเชื่อว่า DSR ในกลุ่มลูกค้าที่เปราะบาง หรือรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จากการพิจารณาสินเชื่อของบริษัทที่ดูในเรื่องของความสามารถในการชำระ และแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) โดยบริษัทมีการกำหนด underwriting อยู่แล้ว ว่าลูกค้าจะต้องมีรายได้เท่าไร และรายได้ต่อค่างวดของบริษัทต้องเป็นอย่างไร ทำให้คิดว่าเกณฑ์ DSR ไม่น่าจะมีผลกระทบกับบริษัท” นางกฤติยากล่าว