ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังทรัมป์กดดันเฟดเร่งปรับลดดอกเบี้ย

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 30.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (7/8) ที่ระดับ 30.80/82 บาท/ดอลลาร์ หลังเมื่อคืนวาน (7/8) นาย
โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความ เรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนายทรัมป์กล่าวว่า เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปริมาณที่มากขึ้นและเร็วขึ้น พร้อมกับยุติการใช้มาตรการคุมเข้มเชิงปริมาณในทันที

ขณะเดียวกันนายทรัมป์ได้ยกตัวอย่างธนาคารกลางของอีก 3 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยประเทศไทย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อวาน (7/8) และนายทรัมป์ได้กล่าวอีกว่า ปัญหาของสหรับไม่ใช่การแข่งขันกับประเทศจีน แต่เป็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ไม่ยอมรับว่าพวกเขาได้ใช้มาตรการคุมเข้มทางการเงินมากเกินและเร็วเกินความจำเป็น และสถานการณ์โดยรวมคงจะดีขึ้นหากเฟดมีความเข้าใจว่าในปัจจุบันสหรัฐกำลังแข่งขันกับประเทศอื่นอยู่ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งล่าสุดสหรัฐกำลังเตรียมตัวสำหรับการเจรจากับจีนในเดือนหน้า ซึ่งจีนจะส่งตัวแทนมาทำการเจรจาที่สหรัฐ

ในส่วนของประเทศไทย ระหว่างวัน (8/8) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทยประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาอยู่ที่ระดับ 75.0 ลดลงจากระดับ 76.4 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยการลดลงของดัชนีดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย ได้แก่ สงครามการค้าโลก, ภัยแล้งภายในประเทศ และการขายปลีกในประเทศที่ลดลง

นอกจากนี้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าว ปัจจุบัน ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเจอแรงกดดันจากเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังคงอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความกังวลเรื่องสงครามการค้าของโลก ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 เป็นอย่างน้อย นายธนวรรธน์ยังกล่าวด้วยว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเร่งผลักดันนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มิฉะนั้นเศรษฐกิจไทยอาจไม่ฟื้นตัวจนถึงไตรมาส 4 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.74-30.79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 1.1210/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/8) ที่ระดับ 1.1182/84 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความเพื่อกดันธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1196-1.1228 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1212/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 106.01/03 เยน/ดอลลาร์สหรับ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/8) ที่ระดับ 106.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนแข็งค่าลงสวนทางกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ส่งสัญญาณกดดันเฟดให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และในวันนี้ (8/8) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมิถุนายนที่ระดับ 1.21 ล้านล้านเยน สูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมียอดเกินดุลที่ 1.14 ล้านล้าน
เยน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.98-106.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/8) สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (8/8) ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 2 ของญี่ปุ่น (9/8) ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (9/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.70/-2.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.00/0.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ