ลุ้น รมว.ดีอีเร่งไลเซนส์ “NDID” 9 บริษัทประกันขอเข้าแซนด์บอกซ์ ธปท.

บริษัท NDID เรียกประชุมผู้ถือหุ้น 13 ส.ค. สรุปเพิ่มทุน 250 ล้านบาท จบ ส.ค.นี้ ดึง “ตลท.-ไปรษณีย์” ถือหุ้นรายละ 7% ดันแบงก์รัฐถืออันดับ 2 ฟากสมาคมแบงก์ลดสัดส่วนเหลือ 36% ลุ้น รมว.ดีอีคนใหม่เร่งออกกฎหมายลูกตั้งบอร์ดกำกับเดินหน้าออกไลเซนส์ ฟาก “ม.ล.จิรเศรษฐ” เผย 9 บริษัทประกันชีวิตเข้าทดสอบในแซนด์บอกซ์ คาดปีหน้าเปิดบริการ

แหล่งข่าวจากบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี (NDID) เปิดเผยว่า ขณะนี้ NDID มีการเพิ่มทุนอีก 250 ล้านบาท เป็น 350 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) บริษัท ไปรษณีย์ไทย เข้ามาถือเพิ่มเติมรายละ 7% ส่วนบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ถอนตัวออกไป เปิดทางให้ทางสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 15% รองจากสมาคมธนาคารไทยที่ถือ 36% ลดจากเดิมที่ถือ 40% ยังมีสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ถือ 7% สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) 7% สมาคมประกันชีวิตไทย 7% สมาคมประกันวินาศภัยไทย 7% และสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (TEPA) อีก 7%

“ในส่วนของแบงก์รัฐ ช่วงแรกให้ทางธนาคารออมสินถือหุ้นแทนแบงก์รัฐอื่นไปก่อน แล้วต่อไปค่อยกระจายหุ้นกันไป ขณะที่การเพิ่มทุนอีก 250 ล้านบาท จะได้เงินภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า หลัง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 บังคับใช้แล้ว ถึงตอนนี้ต้องรอ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนใหม่เสนอกฎหมายลูกเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแล ประกาศหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลจะต้องปฏิบัติ ซึ่งจะมีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เป็นฝ่ายเลขานุการ มีหน้าที่ออกใบอนุญาต (ไลเซนส์) ให้บริษัทที่จะทำกิจการพิสูจน์และยืนยันตัวตน

“NDID ต้องรอได้ไลเซนส์ จึงจะเปิดดำเนินกิจการได้ ซึ่งระหว่างนี้ก็จะเป็นขั้นตอนการทดสอบระบบอยู่ในแซนด์บอกซ์ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปก่อนเพราะยังทำอะไรไม่ได้”

ม.ล.จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย ในฐานะกรรมการบริหาร NDID กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ NDID ได้นัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อสรุปเกี่ยวกับการเพิ่มทุนบริษัท

ขณะที่ก่อนหน้านี้ NDID ได้เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง บลจ. 2 แห่ง และ บล. 1 แห่ง ทดสอบให้บริการจริงในวงจำกัดภายใต้แซนด์บอกซ์ของ ธปท. ซึ่งเฟสแรกธนาคารจะเริ่มให้บริการเปิดบัญชีออนไลน์ผ่านระบบ “e-KYC” และการให้สินเชื่อดิจิทัล (digital lending) จากนั้นจะขยายไปสู่การเปิดบัญชีของ บลจ.และ บล. ทั้งนี้ การทดสอบในแซนด์บอกซ์ของ ธปท.จะใช้เวลาจนถึงสิ้นปีนี้ และเริ่มให้บริการได้ต้นปี 2563

นอกจากนี้ ล่าสุด มีบริษัทประกันชีวิต 9 แห่ง สมัครเข้าทดสอบในแซนด์บอกซ์ ธปท. โดยเบื้องต้นธุรกิจประกันชีวิตอาจจะเริ่มให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าที่เข้ามาซื้อประกัน หลังจากนั้นจะเป็นการพิสูจน์และยืนยันพิสูจน์ตัวตนเพื่อการจ่ายเคลมอัตโนมัติ (e-Claim)


“อย่างเช่น เมื่อป่วยหนักต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ระบบ NDID จะสามารถค้นหาและจัดอันดับได้เลยว่า ควรจะเคลมกับบริษัทประกันรายใด” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว