Digital Commerce in China

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมได้มีโอกาสพาลูกค้าธนาคารไปศึกษาดูงานเศรษฐกิจดิจิทัลที่ประเทศจีน ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้จีนล้ำหน้าไปมาก เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง มีบริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย โดยเฉพาะด้าน digital commerce ซึ่งผมและผู้ประกอบการได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมอาลีบาบา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัล และบริษัทในเครือ เช่น Hema Market ค้าปลีกแนวใหม่, Geek+ บริษัทนวัตกรรมหุ่นยนต์โลจิสติกส์ และได้มีโอกาสเข้าพักในโรงแรมที่เป็นธีมดิจิทัล ที่ชื่อว่า FlyZoo Hotel อีกด้วย

ผมถือโอกาสมาเล่าสู่กันฟังว่า ได้เห็นอะไรมาบ้าง เริ่มที่ FlyZoo Hotel ที่ผมและผู้ร่วมเดินทางในทริปทั้งหมดเข้าพัก ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมที่ใช้ AI technology และหุ่นยนต์มาบริการ ตั้งอยู่ที่หางโจว โดยผู้เข้าพักสามารถจองโรงแรมรวมถึงเช็กอินล่วงหน้าผ่านแอป และเมื่อมาถึงจะมีระบบนำทางไปยังห้องด้วยเทคโนโลยีคล้าย Google Street View จากนั้นทำการยืนยันผู้เข้าพักผ่านระบบจดจำใบหน้าเพียงยิ้มให้กับกล้องที่ติดอยู่ตามจุดต่าง ๆ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจนถึงห้องพักไม่ต้องพบพนักงานเลย ห้องพักก็มีลำโพงอัจฉริยะที่ฟังคำสั่งเสียงจากผู้เข้าพักในการควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และหากต้องการสั่งน้ำดื่มก็จะจัดส่งถึงห้องโดยหุ่นยนต์ ที่ใช้รหัส SMS ในการเปิดช่องเก็บของบนตัวหุ่นยนต์ และเมื่อเช็กเอาต์ก็ทำผ่านแอปแล้วเดินออกได้เลย เห็นได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาใช้ นอกจากช่วยให้แขกสะดวกและสร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นแล้ว ยังช่วยลดการใช้แรงงานอีกด้วย ซึ่งโรงแรมนี้ก่อตั้งโดยอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่แห่งวงการดิจิทัลของจีนนั่นเอง

อาลีบาบา ซึ่งทุกคนรู้จักดีในฐานะบริษัทยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีนที่ก่อตั้งโดย แจ็ก หม่า แต่ทราบไหมครับว่า จริงแล้วอาลีบาบาบอกว่า ตัวเองเป็นบริษัท AI ที่ประกอบธุรกิจหลายประเภท ทั้งอีคอมเมิร์ซ ค้าปลีก โรงแรม อินเทอร์เน็ต บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เสิร์ชเอ็นจิ้นและบริการคอมพิวเตอร์คลาวด์ และล่าสุดอาลีบาบากลายเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่และมูลค่ามากที่สุดในโลก ซึ่งยอดขายและกำไรแซงหน้าผู้ค้าปลีกในสหรัฐรวมกัน ทั้งวอลมาร์ต อเมซอน และอีเบย์ อีกทั้งยังทำให้วันคนโสดของจีนเป็นวันซื้อสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม Hema Market ซูเปอร์มาร์เก็ตที่สะท้อนธุรกิจค้าปลีกแนวคิดใหม่ของอาลีบาบาที่ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์พร้อมกัน โดยเลือกว่าจะซื้อจากที่บ้านผ่านแอปบนมือถือและจ่ายเงินด้วย Alipay จากนั้นก็รอสินค้ามาส่ง หรือจะเดินมาที่ Hema Market เพื่อหยิบสินค้าที่ต้องการ จ่ายเงินด้วย Alipay และให้ส่งไปที่บ้านก็ได้เช่นกัน มีการนำบาร์โค้ดมาใช้กับสินค้าสดต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบว่าผักหรือผลไม้เหล่านี้มาจากแหล่งใด ทั้งยังมีวิธีชำระเงินที่ทั้งการสแกนชำระด้วยใบหน้า หรือการสแกน QR code และมีการนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าแต่ละราย เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ โดยให้แอปเสนอรายการสินค้าที่ซื้อเป็นประจำ ให้ลูกค้าสั่งซื้อผ่านแอปโดยที่ไม่ต้องมาซูเปอร์มาร์เก็ตอีกต่อไป

ถ้าหากไปดูงานอาลีบาบา แล้วไม่ได้ดูเกี่ยวกับออนไลน์ช็อปปิ้ง คงเหมือนเข้าถ้ำเสือแต่ไม่ได้ลูกเสือ ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสไปดูหัวใจของการทำออนไลน์ช็อปปิ้ง นั่นก็คือ ระบบบริหารคลังสินค้าที่มีการใช้ AI ร่วมกับหุ่นยนต์ โดยเยี่ยมชมบริษัท Geek+ ในเครือของอาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตหุ่นยนต์อัจฉริยะสำหรับโลจิสติกส์ที่ใช้แบตเตอรี่และสามารถวิ่งไปชาร์จไฟได้เอง วิ่งสับเปลี่ยนเวียนกันได้ไม่หยุด โดยการทำงานของหุ่นยนต์ที่ร่วมกับการประมวลผลผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ เพื่อสั่งหุ่นยนต์ให้เคลื่อนย้ายชั้นวางสินค้าที่ต้องการ ให้เข้ามาหายังตำแหน่งที่พนักงานรอหยิบสินค้า จากนั้นคอมพิวเตอร์จะแสดงผลผ่านมอนิเตอร์ให้หยิบชิ้นส่วนในตำแหน่งและจำนวนสินค้าตามรายการ โดยพนักงานจะหยิบสินค้ามาสแกนผ่าน barcode เพื่อตรวจว่าหยิบมาถูกต้อง ซึ่งระบบนี้ใช้บริหารคลังสินค้าที่มีออร์เดอร์สินค้าจำนวนมาก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากที่ได้ดูงานมาทั้งหมด ทุกที่มีการใช้ AI เข้ามามีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจลูกค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ดี หรือช่วยสร้างประสิทธิภาพให้ธุรกิจ ซึ่งการนำ AI มาใช้จึงควรเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มศึกษา ผมเชื่อว่าหากเป็นผู้ที่พร้อมเรียนรู้ ก็จะสามารถแสวงหาโอกาสในธุรกิจได้อยู่เสมอ