“กรมธนารักษ์” สำรวจ 200 อาคารเก่า จ่อเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาพัฒนา-สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงอนุรักษ์

นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ปิดเผยว่า ตอนนี้กระแสในเรื่องของการอนุรักษ์กำลังเป็นที่นิยม กรมธนารักษ์ จึงเตรียมศึกษาโครงการจัดทำฐานข้อมูลอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ หากอาคารเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่โบราณสถาน ก็จะเปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาประมูลอาคาร เพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดมูลค่า
เช่น อาจจะนำไปพัฒนาเป็นร้านขายสินค้าโอทอป ร้านกาแฟ โรงแรม เป็นต้น ทั้งนี้ เอกชนสามารถพัฒนาอาคารให้เพิ่มมูลค่าและหารายได้ แต่จะต้องยังคงเอกลักษณ์ของอาคารเอาไว้ อย่างเช่น ตึกเขียวขุนพิทักษ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจจะพัฒนาไปเป็นบูทีค โฮเตล หรือปรับให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ได้

“สำหรับอาคารที่กรมธนารักษ์ได้สำรวจแล้วทั่วประเทศ มีประมาณ 200 หลัง ซึ่งอาคารที่มีสถาปัตยกรรมสวย ๆ ทำเลดีมีอยู่กว่า 60 หลัง โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 21 หลัง อย่างเช่นอาคารวังบ้านดอกไม้ เป็นต้น และนอกจากนั้นจะเป็นอาคารที่อยู่ในภูมิภาค เช่น อาคารกรมศุลกากร อำเภอหนองคาย จังหวัดหนองคาย เป็นต้น โดยพื้นที่เหล่านี้จะสามารถสร้างมูลค่าได้ แม้เงินค่าเช่าอาจจะไม่มาก แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นคือ คุณค่าของอาคารเหล่านี้จะยังคงอนุรักษ์ไว้ต่อไป” นางสาวอมรรัตน์กล่าว

นางสาวอมรรัตน์กล่าวอีกว่า อาคารเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ทั้งหมด พื้นที่บางส่วนยังอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น เช่น อาคารท่าเสด็จที่อยู่ในจังหวัดหนองคาย ยังได้รับการดูแลจากกรมศิลปากร อย่างไรก็ดี กรมศิลปากรได้เตรียมคืนอาคารในพื้นที่ดังกล่าว


ทั้งนี้ ต้องไปดูว่าสถานที่ต่างๆ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไปหรือไม่ หากบางแห่งขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่โบราณสถาน สำนักงานฯ จะเข้าไปหารือกับกรมศิลปากร เพื่อขอใช้พื้นที่ และหากพื้นที่อาคารนั้นๆ ไม่ได้ใช้ ก็จะขอพื้นที่คืน ถ้าหากยังใช้พื้นที่อยู่ ทางกรมจะขอให้ใช้ในเชิงอนุรักษ์ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะให้เอกชนเข้าไปได้ทันที อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าสามารถทำได้ เพียงแต่ว่าจะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการ