ปิดดีล “TMB-ธนชาต” 1.5แสนล. “ไอเอ็นจี-TCAP” ถือหุ้นใหญ่/คลังคุมบอร์ด

“ทีเอ็มบี-ธนชาต” เซ็นซื้อขายกิจการแล้ว-ดีลควบรวม 1.56 แสนล้านบาทชื่นมื่นเกิดแบงก์ใหม่ใหญ่อันดับ 6 สินทรัพย์ 2 ล้านล้าน อัพฐานลูกค้าสู่ 10 ล้านคน “ไอเอ็นจี” ถือหุ้นใหญ่สุด “ทุนธนชาต” อันดับ 2 ส่วนคลังถอยเป็นอันดับ 3 แต่ยังมีบทบาทตั้งประธานบอร์ด-กรรมการ สองฝั่งเดินหน้าปรับโครงสร้างกิจการ-กระบวนการเพิ่มทุน “ทีเอ็มบี” ประชุมผู้ถือหุ้น ก.ย.นี้ พร้อมระดมเพิ่ม 1.3 แสนล้านบาท

นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบรหาร บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) กล่าวในงานแถลงข่าวธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) เปิดแผนการรวมกิจการระหว่าง 2 ธนาคาร ว่า เมื่อ 2 แบงก์รวมกันแล้วจะเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบเท่าตัว มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท มีโครงสร้างทางธุรกิจและความชำนาญที่เสริมกัน และมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ล้านคน โดยที่ลูกค้าที่ซ้ำซ้อนกันมีไม่ถึง 10% จึงถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่มากขึ้น

“เมื่อ TCAP ได้รับชำระค่าหุ้นและเข้าซื้อหุ้นบริษัทลูก รวมถึงเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่ธนาคารธนชาตลงทุนไว้ จากนั้น TCAP จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB เป็นจำนวนเงินราว 44,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า TCAP จะมีเงินสดเหลือจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายจัดการจะได้หาแนวทางในการบริหารเงินส่วนนี้ให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุดต่อไป”

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP กล่าวว่า TBANK จะทำการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดย TCAP จะซื้อหุ้นของบริษัทลูกกลับคืน ได้แก่ บมจ.ธนชาตประกันภัย, บล.ธนชาต, บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอา, บมจ.ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี และ บมจ. เอ็ม บี เค ส่วนการลงทุนอื่น ๆ TCAP ได้จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ซื้อหุ้นในสัดส่วนของ TBANK กลับมา ได้แก่ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง และบริษัทอื่น ๆ ซึ่งภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ TBANK จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใน บลจ.กองทุนธนชาต (TFUND) และบริษัท ธนชาต โบรกเกอร์ (TBROKER) ในสัดส่วน 75% และ 100% ตามลำดับ

“TBANK จะดำเนินการขายหุ้น 75% ที่ถืออยู่ใน TFUND ให้บุคคลภายนอก โดยภายหลังปรับโครงสร้างแล้ว TMB จะเสนอซื้อหุ้นสามัญของ TBANK จากผู้ถือหุ้นของ TBANK ทุกราย โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด และ TCAP กับ BNS จะเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TMB รวมถึงเข้าซื้อส่วนที่ TMB จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK เพื่อให้ TCAP เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK ต่อไปในภายหลัง”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า เมื่อเงื่อนไขบังคับตามสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่าง TCAP และสโกเทียแบงก์ (BNS) สำเร็จลง โดยทาง TCAP และ TBANK ดำเนินการเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารเสร็จ และ ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการรวมกิจการ โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือ ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ TMB จะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติรายการที่เกี่ยวข้องกับการรวมกิจการรวมถึงการเพิ่มทุนในการจัดหาเงินทุนเข้าเสนอซื้อหุ้นสามัญของ TBANK จากผู้ถือหุ้นของ TBANK ทุกราย

“TMB จะจัดหาเงินทุนทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาท จากการออกหุ้นเพิ่มทุน เสนอขายหุ้นสามัญแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ราว 42,500 ล้านบาท ส่วนที่สอง จะเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่บุคคลภายนอก และผู้ถือหุ้นเดิมของ TBANK ทุกราย อีก 6,400 ล้านบาท และ 57,600 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนั้น จะมีการออกตราสารหนี้ เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ 9,600 – 16,000 ล้านบาท และผู้ลงทุนรายใหญ่ 15,000 ล้านบาท ทั้งยังมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากตราสารหนี้อีก 20,000 ล้านบาท ในกรณีที่ต้องการเงินทุนเพิ่ม ซึ่งเบื้องต้น คาดว่าโครงสร้างการถือหุ้นจะมีสัดส่วน ING ถือหุ้น 21.3% TCAP ถือหุ้น 20.4% กระทรวงการคลังถือหุ้น 18.4% BNS ถือหุ้น 5.6% ที่เหลือเป็นรายย่อย 34.3%” นายปิติกล่าว

โดยกระบวนการซื้อขายหุ้นคาดจะเสร็จใน ธ.ค. 2562 จากนั้นเดือน ม.ค.2563 ทั้ง 2 แบงก์จะมีบอร์ดและผู้บริหารชุดเดียวกัน และทยอยรวมการดำเนินงาน คาดว่าเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564


นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ TMB กล่าวว่า การซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนของคลัง จะเป็นทางกองทุนรวมวายุภักษ์ เข้าไปซื้อวงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยคลังจะลดสัดส่วนถือหุ้นเหลือราว 18% ซึ่งจะถือเป็นอันดับ 3 อย่างไรก็ดี การมีบทบาทในคณะกรรมการ โดยเฉพาะการแต่งตั้งประธานกรรมการ และ คณะกรรมการบริหารของคลังยังคงเหมือนเดิม