บสย.เล็งโละหนี้เก่า 2 พันล้านบ. คลังออกประกาศเปิดทางขาย “เอเอ็มซี”

จตุฤทธิ์ จันทรกานต์

คลังเปิดทาง บสย.เคลียร์พอร์ตขายหนี้ให้ AMC ได้ รองผู้จัดการทั่วไป บสย.เผยเบื้องต้นเล็งขายหนี้ที่ติดตามไม่ได้แล้วราว 2 พันล้านบาทในปีนี้ รอที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดรอบด้านอีกที ระบุปัจจุบันพอร์ตเอ็นพีแอลของ บสย.อยู่ที่กว่า 3 หมื่นล้านบาท ด้านเอ็นพีจีครึ่งปีแรกเพิ่มแตะ 15% เหตุลูกค้าแบงก์เป็นหนี้เสียมากขึ้น

นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานบริหารสินทรัพย์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีประกาศกระทรวงการคลังกำหนดให้ บสย.เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. 2562 เป็นต้นไปนั้น ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ บสย.สามารถขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ได้ ซึ่งปัจจุบัน บสย.มีหนี้ที่ติดตามไม่ได้อยู่ราว 2,000 ล้านบาท

“บสย.ทำธุรกิจมากว่า 27 ปี เรามีหนี้ที่ติดตามไม่ได้อยู่ก้อนหนึ่ง ซึ่งมองแล้วว่าน่าจะขายออกไปได้เพราะติดตามไม่ได้แล้วจริง ๆ โดยเฉพาะการขายให้กับกลุ่มผู้ซื้อหนี้รายใหญ่อย่าง AMC แต่กฎหมาย AMC กำหนดว่า AMC จะซื้อหนี้ได้ต้องซื้อจากสถาบันการเงินตามกฎหมาย AMC เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา บสย.ยังไม่ได้เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นที่มาที่ บสย.ต้องขอให้กระทรวงการคลังออกประกาศดังกล่าว” นายจตุฤทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี หนี้ที่ติดตามไม่ได้ราว 2,000 ล้านบาทที่ว่าเป็นตัวเลขเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมในการขายหนี้ดังกล่าวอยู่ ว่าหลังจากไม่เคยขายมาตลอด 27 ปี โดยต้องดูกฎหมาย บสย.ด้วยว่าเปิดให้สามารถขายได้หรือไม่ จะขายให้ใครได้บ้าง และขายอย่างไร โดยเฉพาะหนี้ที่ บสย.มีเป็นหนี้ที่มีอายุค่อนข้างมาก ดังนั้น ราคาอาจจะต่ำจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ซึ่งประกาศที่ออกมาจะช่วยให้ บสย.มีตัวเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะรับซื้อหนี้มากขึ้น และหากกฎหมาย บสย.ให้ขายหนี้ได้ก็จะพยายามขายหนี้ก้อนแรกออกไปในปีนี้

“หนี้ที่ติดตามไม่ได้ก็มีทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน แต่ยอมรับว่าส่วนใหญ่จะไม่มีหลักประกัน เนื่องจาก บสย.ค้ำประกัน clean loan (สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน) เป็นหลัก เพราะถ้ามีหลักประกันแบงก์ (ธนาคารพาณิชย์) ก็ไม่จำเป็นต้องให้เราค้ำ โดยหนี้ที่มาอยู่กับเราจะเกิดขึ้นหลังจากลูกค้าผิดนัดชำระแล้วแบงก์มาเคลมส่วนที่เราค้ำประกันให้ ดังนั้น ลูกหนี้ส่วนที่เราค้ำประกันก็จะโอนมาอยู่กับ บสย. เราก็จะมีการติดตามหนี้ต่อ ซึ่งก็ติดตามไม่เหมือนแบงก์ เรามีการประนอมหนี้โดยเปิดโอกาสให้ผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 10 ปี และคิดดอกเบี้ยต่ำมากเพราะเราอยากให้ธุรกิจเอสเอ็มอีกลับไปมีชีวิตได้อีกครั้ง” นายจตุฤทธิ์กล่าว


นายจตุฤทธิ์กล่าวอีกว่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย.หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของ บสย.อยู่ที่กว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 5-6% ของพอร์ตค้ำประกันสินเชื่อคงค้างกว่า 4 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้กว่า 1 หมื่นราย ขณะที่ภาระค้ำประกันหนี้จัดชั้นด้อยคุณภาพ (NPG หรือ NPL ของแบงก์ที่ยังไม่ได้มาเคลมกับ บสย.) ในแง่มูลค่ายังทรงตัว แต่เนื่องจากปีนี้แบงก์ชะลอการปล่อยกู้เอสเอ็มอีทำให้สัดส่วน NPG เมื่อเทียบกับยอดค้ำประกันสินเชื่อที่ชะลอตัวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 15% จากปกติจะอยู่ที่ราว 13% ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะเป็นภาระของ บสย.ราว 3% ส่วนยอดค้ำประกันครึ่งแรกปี 2562 ชะลอตัวตามยอดสินเชื่อ โดยอยู่ระดับกว่า 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม บสย.ยังคงเป้าหมายค้ำประกันทั้งปีให้ได้ที่ 1.07 แสนล้านบาทไว้ ซึ่งคาดหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์ต่าง ๆ น่าจะดีขึ้น