ค่าเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค หลังทรัมป์ชะลอการเก็บภาษีนำเข้าจากจีน

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/8) ที่ระดับ 30.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากปิดตลาดในวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 30.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาคเนื่องจากคืนที่ผ่านมา (13/8) สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจากเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เดือนกันยายน เลื่อนออกไปมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม พร้อมทั้งถอดถอนสินค้าบางประเภทออกจากบัญชีรายการสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีครั้งใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลจึงเริ่มหันมาถือสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีน ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาการค้าครั้งถัดไปในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นหลังตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงคืนที่ผ่านมา (13/8) ประกาศออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบรายเดือน และดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดีนายไรอัน สวีท นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Moody’s Analytics ได้กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระยะหลังไม่ได้ทำให้ธนาคารกลาง (Fed) ปรับลดการคาดการณ์ลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้า จากเครื่องมือ Fed Watch tool ของ CME Group บ่งชี้ว่าโอกาสสูงที่ธนาคารสหรัฐจะลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนกันยายน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.78-30.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (14/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1173/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 1.204/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าหลังจากผลสำรวจของสถาบัน ZEW ลดต่ำลงเกินกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ในวันอังคาร (13/8) ที่ผ่านมา โดยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุนชาวเยอรมนีลดลงสู่ระดับ -44.1 ในเดือนสิงหาคม จาก -24.5 ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ -28.5 อีกทั้งสำนักงานสถิติของรัฐบาลกลางเยอรมนีรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเยอรมนีในวันนี้ (14/8) ลดลง 0.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่เพิ่มขึ้น 0.4% ในไตรมาส 1 โดยนักลงทุนหลายรายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในเยอรมนีอาจหดตัวลงในไตรมาส 3 เช่นกัน เนื่องจากภาคการส่งออกได้รับแรงกดดันจากสงครามทางการค้า และความไม่แน่นอนเรื่องการแยกตัวของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (Brexit) และประเด็นทางด้านการเมืองในประเทศอิตาลี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 11163-1.1184 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1172/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (14/8) เปิดตลาดที่ระดับ 106.35/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 105.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนเริ่มเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากสหรัฐได้ชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม โดยก่อนหน้านี้นักลงทุนคาดว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีนยังคงไม่คืบหน้า ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.23-106.77
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.43/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ของสหรัฐเดือนสิงหาคม (15/8) ดัชนียอดค้าปลีกเดือนกรกฎาคม (15/8) รายงานอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐเดือนกรกฎาคม (16/8) ดุลการค้าของยูโรโซนในเดือนมิถุนายน (16/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.1/-0.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ