“กสิกรฯ” ปรับเกมปล่อยกู้ SME คุมคุณภาพหนี้-งัดดิจิทัลเจาะลูกค้า

สัมภาษณ์

สถานการณ์ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังน่าห่วง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว จากสารพัดปัจจัยลบที่รุมเร้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ลุกลามบานปลาย ฟาดหางถึงภาคส่งออกของไทยโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่อิงกับการส่งออก หรืออยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่ง “วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสธนาคารกสิกรไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มและกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีในครึ่งปีหลัง

สินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีทรงตัว

“วีรวัฒน์” ฉายภาพว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีของกสิกรในช่วงครึ่งแรกปี 2562 ค่อนข้างทรงตัว ทั้งสินเชื่อปล่อยใหม่ (new loan) อยู่ที่ 7.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท ลดลง 0.1% จากสิ้นปี 2561 อย่างไรก็ดี ยังมีบางอุตสาหกรรมที่สินเชื่อปล่อยใหม่เติบโตขึ้น ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โต 16% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โต 9% และกลุ่มขนส่ง โต 6% ขณะที่ทั้งปี 2562 ตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอี เติบโต 2-4% หรือยอดสินเชื่อคงค้าง อยู่ที่ 6.7-6.8 แสนล้านบาท

“เราคาดว่าการเติบโตจะอยู่กรอบล่างที่ 2% เพราะภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เอสเอ็มอีที่จะขยายธุรกิจก็ไม่รู้ว่าจะขยายไปทำไม ส่วนคนที่ขาดสภาพคล่องแล้วเราก็ไม่สามารถให้กู้ได้มาก ส่วนกลุ่มที่จะผลักดันให้เราได้ถึงเป้า 2% คาดว่าจะเป็นการรับเหมาก่อสร้าง เพราะทุก ๆ ครั้งหลังมีรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่จับต้องได้อย่างแรกสุดคือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าโครงการจะใหญ่ขนาดไหน แต่ท้ายสุดงานช่วงต่อ (subcontract) ก็จะมาถึงคนที่อยู่ปลายทางเสมอ เช่น รถไฟความเร็วสูง หรือสนามบิน เป็นต้น”

ส่งออกหดตัวกระทบหนี้เสีย

ขณะที่สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) “วีรวัฒน์” บอกว่า สัดส่วน NPL ของแบงก์ยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 5% และจนถึงสิ้นปีนี้น่าจะยังทรงตัวในระดับปัจจุบันได้ ทั้งนี้ NPL ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกรายเล็กที่เป็นซัพพลายเชน ส่วนผู้ประกอบการที่เน้นพึ่งพิงการบริโภคในประเทศยังพอไปต่อได้

โฟกัสรายเล็ก-กลาง-ล่าง

“วีรวัฒน์” กล่าวอีกว่า จากยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีคงค้างที่ 6.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตของกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลาง (medium) ที่มียอดขายตั้งแต่ 50-400 ล้านบาท/ปี ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท เอสเอ็มอีขนาดเล็ก (small) ที่มียอดขายต่ำกว่า 50 ล้านบาท/ปี ประมาณ 2 แสนล้านบาท และไมโครเอสเอ็มอี (micro) ที่มียอดขายต่ำกว่า 10 ล้านบาท/ปี ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยสินเชื่อปล่อยใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกเป็นการเติบโตในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีค่อนข้างสูงที่ 80% ซึ่งมาจากฐานที่ค่อนข้างต่ำ และกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดเล็ก 27% ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางหดตัว -11%

“เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้กลุ่มเอสเอ็มอีขนาดกลางไม่กู้ไปลงทุนเพิ่ม มีแต่การชำระเงินคืนธนาคาร ส่วนขนาดเล็กคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อปล่อยใหม่มาจากการขาดสภาพคล่องจึงต้องกู้มาจ่าย ทั้งนี้ เราอาจจะบุกทั้งเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ยังเติบโต และเน้นเอสเอ็มอีขนาดกลาง-ล่างด้วย เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจที่ต้องระมัดระวังเช่นนี้ เราจะต้องหาลูกค้าที่ค่อนข้างมีความมั่นคงระดับหนึ่ง ส่วนผู้ที่มีขนาดสภาพคล่องแต่ยังไปต่อได้ เราก็ยังคอยสนับสนุนอยู่”

ใช้ดิจิทัลสกัดดาต้าปล่อยกู้

“วีรวัฒน์” เล่าว่า ที่ผ่านมาแบงก์ได้ลงทุนด้านดิจิทัล ที่เรียกว่า “intelligence lending” ซึ่งเป็นการรวมการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อเพื่อการบริโภค (consumer) เข้าด้วยกัน โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีสินเชื่อปล่อยใหม่ผ่านช่องทางดังกล่าวประมาณ 1.03 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเอสเอ็มอี 7,500 ล้านบาท และคอนซูเมอร์ 2,800 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2562 ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ผ่าน intelligence lending ไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ลูกค้าเอสเอ็มอี 2 หมื่นล้านบาท และลูกค้าคอนซูเมอร์ 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อาจมีการทบทวนเป้าสินเชื่อของกลุ่มลูกค้าคอนซูเมอร์อีกครั้ง เนื่องจากจะต้องนำปัจจัยมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายย่อย (DSR) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาพิจารณาด้วย


“intelligence lending เป็นการที่เราใช้ข้อมูล (data) ในการเลือกปล่อยสินเชื่อว่าจะปล่อยให้ใครและปล่อยอย่างไร โดยนำธุรกรรมลูกค้าที่ลูกค้าเดินบัญชีกับเรามาดูว่า ลูกค้าคนไหนน่าจะมีความต้องการทางการเงิน และลูกค้าคนไหนมีความสม่ำเสมอของรายรับ อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของลูกค้าเอสเอ็มอีคือไม่มีความสม่ำเสมอของรายรับ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่ใช่กลุ่มค้าส่ง (wholesale) ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อมูลข้างต้นแล้วจะต้องสังเคราะห์ข้อมูล (data analytic) เพื่อนำรายรับของลูกค้าไปเปรียบเทียบกับข้อมูลโครงสร้างต้นทุนของแต่ละอุตสาหกรรมว่าการที่ลูกค้ามีรายรับเท่านี้แปลว่าธุรกิจมีกำไรประมาณเท่าไหร่จึงจะค่อยเสนอสินเชื่อให้ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการตอบรับสินเชื่ออยู่ที่ 5-6%”