สหรัฐชะลอเก็บภาษีนำเข้าจากจีน ขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐ ส่งสัญญาณศก.ถดถอย

แฟ้มภาพ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันอังคาร (13/8) ทีี่ระดับ 30.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 30.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงกลางสัปดาห์สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน จากเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เดือนกันยายน เลื่อนไปมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ธันวาคม พร้อมทั้งถอดถอนสินค้าบางประเภทออกจากบัญชีรายการสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีครั้งใหม่ ขณะที่นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีน ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาการค้าครั้งถัดไปในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ส่งผลให้ตลาดคลายความวิตกกังวลลงชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ตลาดพันตธบัตรสหรัฐเกิดสภาวะ Inversion (การที่อัตราผลตอบแทนระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว) ของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่นักลงทุนใช้ในการพิจารณาจึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสัญญาณดังกล่าวเกิดจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.630 เป็นระดับที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.623 นอกจากนี้ระหว่างสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี ร่วงลงมาแตะระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.6923 ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบรายเดือน และดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน (Cove CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม รวมถึงยอดค้าปลีก (Retail Sales) เติบโตขึ้น 0.7% และยอดค้าปลีกที่ไม่รวมอุตสาหกรรมรถยนต์ (Core Retail Sales) เพิ่มขึ้น 1.0% อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนหน้า (17-18 กันยายน) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งนี้

สำหรับปัจจัยในประเทศไทยนั้น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนัดแรก (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมตั้งเป้าผลักดันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3% จากช่วงคาดการณ์ 2.7-3.2% ก่อนขยายตัวเพิ่มเป็น 3.5% ในปี 63 ซึ่งการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 30 ส.ค.-2 ก.ย. 62 โดยจะพิจารณามาตรการดึงดูดการลงทุน และมาตรการกระตุ้นการส่งออก ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.77-0.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 30.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 1.1204/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 1.1205/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในช่วงกลางสัปดาห์ สกุลเงินยูโรได้รับแรงกดดันหลังจากยูโรสแตทเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลข GDP ของยูโรโซนขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกที่มีการขยายตัว 0.4% โดยได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า รวมทั้งความไม่แน่นอนกรณีการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

ในขณะที่ทางด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า GDP ไตรมาส 2 หดตัวลง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2561 อันเนื่องมาจากการส่งออกที่ทรุดตัวลง และผลกระทบจากข้อพิพาทการค้า นอกจากนี้กรรมการธนาคารกลางยุโรป (ECB) นายโอลลี่ เรห์น ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักพิมพ์ The Wall Street Journal ว่าเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เป็นการกระตุ้นให้ ECB ต้องเร่งดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมผ่านมาตรการ Asset Purchase Programme (APP) หรือมาตรการ Quantitative Easing (QE) ควบคู่กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งนายเรห์น ได้ให้ความเห็นว่าการนำเครื่องมือนโยบายการเงินดังกล่าวมาพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในการประชุมช่วงวันที่ 12 กันยายน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยหลังจากที่นายเรห์น ให้สัมภาษณ์ ส่งผลให้ค่าเงินยูโรปรับตัวลดลง โดยในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1078-1.1223 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 1.1081/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 105.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 105.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่ยังคงไม่มีความแน่นอน รวมถึงสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของฮ่องกง ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่า

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่สหรัฐประกาศเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนไปเป็นช่วง 15 ธันวาคม ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลง จากการที่นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยบางส่วน นอกจากนี้ในช่วงปลายสัปดาห์กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย. แตะที่ 1.1229 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนมียอดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่ที่ 1.1125 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์จากเดือนก่อนหน้า หลังจากที่ปรับตัวลงต่อเนื่องกันถึง 3 เดือน ส่งผลให้ญี่ปุ่นแซงหน้าจีนขึ้นเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐสูงที่สุดในเดือน มิ.ย. โดยมีปริมาณการถือครองพันธบัตรที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตาภาวะตึงเครียดทางการค้าระหว่างเกาหลีใต้และญีี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 105.03-106.97 เยน/ดอลลาร์ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (16/8) ที่ระดับ 106.45/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ