อึ้ง! “แบงก์-บลจ.” แห่ตุนบอนด์ สภาพคล่องตลาดรองส่อวูบหลัง 20 ส.ค.

“แบงก์-บลจ.” แห่ซื้อบอนด์ตุนหลัง กนง.มีมติลดดอกเบี้ยกดยีลด์ฮวบทันที 0.10% “TMB Analytics” คาดเร่งซื้อบอนด์เข้ากองหวังฟันกำไร-ตุนก่อนเจอภาษี 15% ฟาก “ThaiBMA” ประเมินหลัง 20 ส.ค. สภาพคล่องตลาดรองลดฮวบ คาดคลังอ่วมเจอนักลงทุนเรียกร้องปั้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลให้สูงขึ้นชดเชยผลตอบแทนที่ลดลงจากการถูกเก็บภาษีคูปอง

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ลดลงทันทีเฉลี่ย 0.10% โดยการที่บอนด์ยีลด์ลดลงค่อนข้างมาก เกิดจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กับตัวแทนจำหน่าย (ดีลเลอร์) ซึ่งก็คือธนาคาร เข้าซื้อบอนด์ตุนเข้ากองทุนรวม ก่อนที่มาตรการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% จากการลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวม จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.นี้

“หลัง กนง.มีมติ บอนด์ยีลด์ลดลงเยอะ ซึ่งคนเข้าซื้อส่วนใหญ่ไม่ใช่ต่างชาติ เพราะต่างชาติชะลอซื้อมาตั้งแต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณคุมเงินร้อน แต่ประเด็นคือ วันที่ 20 ส.ค.นี้ คูปองพันธบัตรจะถูกเก็บภาษี 15% ทำให้ บลจ.กับดีลเลอร์ซึ่งคือแบงก์ (ธนาคาร) แห่ซื้อบอนด์ตุนเข้ากองทุนรวม
เนื่องจากธุรกรรมซื้อขายที่ทำก่อนวันที่ 20 ส.ค. ดังกล่าว จะไม่ถูกเก็บภาษี ดังนั้นจึงต้องตุน แม้ว่ายีลด์จะไม่ดีก็ตาม โดยการซื้อตุนไว้ก็ทำให้ทำกำไรได้” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวอีกว่า ขณะที่แนวโน้มหลังวันที่ 20 ส.ค.นั้น กองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ที่ถูกหักภาษี 15% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (net asset value : NAV) ของกองทุนก็จะลดลง ทำให้ผลตอบแทนของกองทุนลดลงไปด้วย เนื่องจาก NAV จะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของกอง ซึ่งมาจาก 2 ส่วน คือ รายได้ดอกเบี้ย (คูปอง) กับกำไรจากส่วนต่างเวลาขาย (แคปิตอลเกน)

“เมื่อคูปองโดนหัก 15% ทำให้ไม่ว่าจะได้คูปองมาเท่าไหร่ ก็จะหายไป 15% ซึ่งก็คงมีผลกระทบพอสมควร เพราะบอนด์ ราคาจะไม่ได้เหวี่ยงมากเหมือนหุ้น แคปิตอลเกนก็จะอยู่แค่ 1-2% แต่ว่าคูปองอาจจะกว่า 2% ซึ่งเมื่อคูปองถูกเก็บ 15% ก็ย่อมกระทบ NAV ก็จะลดลง และกระทบผลตอบแทนของกองทุนไปด้วย” นายนริศกล่าว

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อมีการเก็บภาษีจากการลงทุนตราสารหนี้ในกองทุนรวมที่ 15% คาดว่าจะส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาดรอง เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีอยู่เดิมอาจไม่มีการเปลี่ยนมือ เพราะหากเปลี่ยนมือไปสู่ผู้ซื้อที่ได้รับตราสารหนี้หลังวันที่ 20 ส.ค. ก็จะมีภาระทางภาษีเช่นเดียวกับการซื้อตราสารหนี้ใหม่

“การเก็บภาษี 15% จะถูกหักโดยผู้ร่วมออก และสำหรับตราสารหนี้ที่ได้มาหลังวันที่ 20 ส.ค. แม้จะเป็นตราสารหนี้เดิม หรือกองทุนรวมตราสารหนี้เดิม หากได้รับตราสารหนี้มาหลังวันที่ 20 ส.ค. 62
ก็จะต้องเสียภาษีอยู่ดี” นายธาดากล่าว

นายธาดากล่าวอีกว่า หากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนหลังเสียภาษีใกล้เคียงจากเดิม กองทุนรวมซึ่งเป็นตัวกลางมีแนวโน้มเรียกร้องอัตราผลตอบแทนเพิ่มจากตราสารหนี้ในตลาดแรก (กระทรวงการคลัง) ดังนั้นประเมินว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดจะขยับขี้นเล็กน้อย โดยปัจจุบันรัฐบาลเป็นผู้ออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดสูงสุด จึงคาดว่ารัฐบาลจะต้องปรับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะยาวและระยะสั้น (yield curve) ปรับเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกองทุนรวมที่เป็นตัวกลางมีสัดส่วนในการถือพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 20% เท่านั้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อการปรับอัตราผลตอบแทนไม่มาก ขณะที่ตราสารหหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ที่จะออกใหม่ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนอย่างไร โดยกองทุนรวมมีแนวโน้มที่จะเรียกร้องผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยส่วนที่เสียภาษีเช่นกัน และสัดส่วนการซื้อขายหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดรองเกินกว่า 50% มาจากกองทุนรวม ดังนั้นหลังจากวันที่ 20 ส.ค. สภาพคล่องในตลาดรองจะหายไปอย่างรวดเร็ว