“ไพบูลย์ นรินทรางกูร” โพสต์เฟสบุ๊ก “วัดพลังธนาคารกลางกันอีกรอบ”

แฟ้มภาพ

นายไพบูลย์ นรินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับ “วัดพลังธนาคารกันอีกรอบ” ว่า ปีนี้ดูเหมือนน่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับนักลงทุน เพราะดอกเบี้ยทั่วโลกกลับมาสู่ขาลง ตลาดหุ้นก็ปรับขึ้นเกือบทุกตลาด และน่าจะเป็นครั้งแรกที่ตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วทั้ง 23 ประเทศปรับขึ้นทั้งหมด แต่การลงทุนกลับไม่ง่าย เพราะราคาหุ้นผันผวนสูงมากตลอดทั้งปี ยกตัวอย่าง SET Index ปรับขึ้นลงถึง 280 จุด ภายในไม่ถึงสามเดือน และไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นไทย แต่อีกหลายตลาดก็เผชิญกับความผันผวนที่รุนแรงเช่นเดียวกัน

สาเหตุสำคัญ เป็นเพราะปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นในปีนี้ คือปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์​​ (Geopolitics) หรือแปลง่ายๆ ว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศ​ ซึ่งซับซ้อนและยากต่อการวิเคราะห์ อาทิ ปัญหาระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะลงเอยอย่างไร ปมความขัดแย้งที่ขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ รวมทั้งจุดยืนของสหรัฐ​ที่เปลี่ยนไปมา ยิ่งทำให้การประเมินความเสี่ยงยากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง Brexit ​ปัญหาหนี้ในอิตาลีและอาร์เจนตินา ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านและรัสเซีย​ การประท้วงในฮ่องกง ฯลฯ

ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้น เพราะนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุน ยังกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ล่าสุด IMF ลดประมาณการขยายตัวของ GDP โลกเหลือ 3.2% ซึ่งเป็นการลดประมาณการเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 7 เดือน และเป็นการขยายตัวของ GDP โลกที่ตำ่สุดในรอบ10 ปี

ในสหรัฐ​​ ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมยังดูแข็งแรง แต่ Bond Yield เริ่มส่งสัญญาณว่ามีโอกาสเกิด recession ในอีก 2 ปีข้างหน้า จากการที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 2 ปี เริ่มสูงกว่าพันธบัตร 10 ปี จีนเองก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวตำ่สุดในรอบ 27 ปี เร็วๆ นี้เราน่าจะได้เห็นธนาคารกลางจีนลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตามหลังสหรัฐ และอีก 38 ประเทศที่ทยอยลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางของ EU ก็มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยเช่นกัน และอาจทำ QE อีกรอบ

คำถามคือ การลดดอกเบี้ยพร้อมๆ กันของธนาคารกลางทั่วโลกในครั้งนี้ จะมีพลังพอที่จะหยุดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเหมือนที่เคยทำได้เมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือไม่?

ถ้าจำกันได้ หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2008 ธนาคารกลางเกือบทุกประเทศ​​ ได้พร้อมใจกันลดดอกเบี้ยในเวลาใกล้เคียงกัน บางธนาคารกลางอย่าง สหรัฐ​ EU และ ญี่ปุ่น ยังใช้นโยบาย QE เสริมอีกด้วย และอย่างที่ทราบกันดี หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจโลกก็กลับมาขยายตัว ส่วนตลาดหุ้นก็ได้อานิสงส์ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของตลาดหุ้นกระทิงที่ยาวนานที่สุดในสหรัฐ

ผมเชื่อว่า Impact จากการลดดอกเบี้ยในรอบนี้จะไม่มากเท่าเดิม เพราะช่องว่างในการลดดอกเบี้ยมีน้อย ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของเกือบทุกประเทศยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ย้อนกลับไปในช่วงนั้น Fed สามารถลดดอกเบี้ยลงมากกว่า 10 ครั้ง จาก 5.25 % เหลือ 0.25% และถ้าเอา “จำนวนครั้ง” ของการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทุกแห่งมารวมกัน จะพบว่ามีการลดดอกเบี้ยถึง 92 ครั้งในปี 2008 และอีก 207 ครั้งในปี 2009 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาล อานุภาพของการลดดอกเบี้ยรอบนั้นจึงสูงมาก

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าธนาคารกลางจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ในช่วงนี้ได้ เพราะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่ถือว่าแย่ เพราะแค่ชะลอตัว ไม่ได้ถดถอย หรืออยู่ในภาวะวิกฤตเหมือน 10 ปีที่แล้ว การลดดอกเบี้ยรอบนี้จึงเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำมากเท่าคราวที่แล้ว

ผมยังเชื่อว่าปัญหาระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุน น่าจะมีเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ปีหน้าเป็นปีที่สหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเป็นปกติที่รัฐบาลสหรัฐจะต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการชนะการเลือกตั้ง การดันทุรังเล่นงานจีนต่อไปเรื่อยๆ ไม่น่าขะเป็นกลยุทธ์ที่ทรัมพ์จะนำมาใช้ในปีหน้า

แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้คงไม่จบลงง่ายๆ แต่อย่างน้อยการพักรบชั่วคราวก็น่าจะช่วยทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดีขึ้น