คปภ.ผนึกจีน-อาเซียน ยกระดับและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาค

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในเวทีสุดยอด “จีน – อาเซียน” ว่าด้วยความร่วมมือและพัฒนาการด้านประกันภัย (The 3rd China-ASEAN Summit Forum on Insurance Cooperation and Development) ณ นครหนานหนิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายน 2560 จัดโดยคณะกรรมการการประกันภัยของสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Insurance Regulatory Commission หรือ CIRC) ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งที่ 3 มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยจากภูมิภาคเอเชียและอาเซียน รวม 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทย พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว บังคลาเทศ และศรีลังกา โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทัศนะในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เท่าทันความรุดหน้าของเทคโนโลยีและภูมิทัศน์ทางธุรกิจประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในกระแสโลก ซึ่งดร.สุทธิพลได้รับเกียรติให้นำเสนอพัฒนาการด้านประกันภัยและการกำกับดูแลระบบประภัยของประเทศไทยในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย

ในโอกาสนี้เลขาธิการคปภ.ได้ขึ้นกล่าวในเวทีของที่ประชุมมีใจความสำคัญว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้เร่งพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้ทันสมัยและเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อเตรียมพร้อมเข้ารับการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program : FSAP) ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 โดยสำนักงาน คปภ. ยึดหลักการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นภายใต้หลักการ “Regulating as necessary, not whenever possible

ที่ผ่านมาได้มียกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันไปหลายฉบับ

ในขณะเดียวกันก็ได้ปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัย และออกกฎหมาย กฎระเบียบใหม่ๆ ที่จำเป็นและยังขาดอยู่ โดยมุ่งเน้นให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สำคัญของระบบประกันภัยอย่างครบวงจร ทั้งการยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance Act) จนสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา และการออกกฎระเบียบที่สำคัญอื่นๆ อาทิเช่น การกำหนดมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย (ERM) ให้ครอบคลุมบทบาทคณะกรรมการบริษัท โครงสร้างการบริหารความเสี่ยงที่ดี และการบริหารความเสี่ยงที่สอดรับกับวัตถุประสงค์และการดำเนินงานของบริษัท
เลขาธิการ คปภ.ยังกล่าวต่อไปว่าปัจจุบัน การพัฒนาของเทคโนโลยีและ InsurTech ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด สำนักงาน คปภ. จึงยกระดับการกำกับดูแลพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในธุรกิจประกันภัยไทย โดยเมื่อกลางปี 2560 ประเทศไทยได้ออกประกาศ E-insurance เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบประกันภัยมีความถูกต้องเชื่อถือได้ มีมาตรฐานการควบคุมดูแลความเสี่ยงที่ดี และที่สำคัญคือ ผู้เอาประกันภัยและประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม

ในด้านความเสี่ยงทางไซเบอร์ สำนักงาน คปภ.ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยมีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยไซเบอร์ (Cyber insurance) เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับภาคการเงิน รวมถึงเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย start up และบริษัทฟินเทคต่างๆ สามารถนำนวัตกรรมมาทดลองใช้ในการประกันภัยภายใต้โครงการ Regulatory sandbox ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการหลายรายด้วยกัน

นอกจากการส่งเสริมการประกันภัยที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว สำนักงาน คปภ. ก็ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการทำประกันภัยพืชผล (crop insurance)ด้วย โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ในการช่วยเหลือให้เกษตรกรไทยจัดทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง จากภัยทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศร่วมกว่าหนึ่งล้านราย

ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ปัจจุบัน สำนักงาน คปภ. ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยของประเทศต่างๆ กว่า 9 ประเทศ ซึ่งก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การกำกับดูแลร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดประโยชน์ในการนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดไปปรับใช้ในการกำกับดูแลระบบประกันภัยของไทยนอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยไทยไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียน อาทิเช่น อินโดนีเซีย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ย้ำว่า “การเข้าไปทำธุรกิจ ในประเทศอาเซียน มิใช่เป็นการลงทุนเพื่อผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการลงทุนเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการประกันภัยให้กับพันธมิตร เพื่อให้ระบบการประกันภัยในภูมิภาคอาเซียนมีการพัฒนาไปด้วยกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่” ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการประชุม

ดร.สุทธิพล ได้สอบถามผู้แทน CIRC ถึงการจัดตั้ง Financial Stability and Development Committee ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้แทน CIRC ให้ข้อมูลว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตลาดประกันภัยมีบริษัทโฮลดิ้งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงิน รัฐบาลจีนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับภาคการเงินและการติดตามดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ หรือ Systemic risk ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงบทบาทหน้าที่ที่เหมาะสมของคณะกรรมการดังกล่าว
ในตอนท้ายของการนำเสนอ ดร.สุทธิพล กล่าวสรุปว่า ธุรกิจประกันภัยทั่วโลกต่างกันเผชิญกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การฉ้อฉล และการพัฒนาของ InsurTech จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยของประเทศต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาค China-ASEAN จะต้องร่วมมือกันแบ่งปันประสบการณ์และทัศนะการกำกับดูแล เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและพัฒนาการของธุรกิจประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งการนำเสนอของเลขาธิการคปภ.ได้รับการชื่นชมและเป็นที่สนใจจากที่ประชุมเป็นอย่างมาก จนทำให้สื่อวิทยุโทรทัศน์ของประเทศจีนติดต่อขอสัมภาษณ์หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอในครั้งนี้