ค่าเงินบาททรงตัวตามภูมิภาค นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเฟด

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/8) ที่ระดับ 30.79/81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากปิดตลาดในวันอังคาร (20/8) ที่ระดับ 30.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของที่เมืองแจ็กสัน โฮล ในวันศุกร์ (23/8) นี้ โดยนักลงทุนบางรายได้คาดการณ์ว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ นอกจากนี้นักลงทุนยังคงติดตามรายงานการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ที่จะเปิดเผยในช่วงคืนนี้ (21/8) โดยคาดหวังว่ารายงารการประชุมดังกล่าวจะมีสัญญาณบ่งชี้ ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยยอดการส่งออกเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 21,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.28% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 21,094.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.67% เช่นกัน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีบัญชีดุลการค้าที่เกินดุลอยู่ในระดับ 110.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ในส่วนของนโยบายการคลัง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอนุมัติงบประมาณ 3.16 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าจะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้ 0.3-0.4% ในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.76-30.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.77/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (21/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1092/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/8) ที่ระดับ 1.1079/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าหลังจากดัชนีราคาผู้ผลิต (producer price index) ในเยอรมนีเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวลง 0.4% อย่างไรก็ดีการแข็งค่าของค่าเงินยูโรยังคงถูกจำกัดด้วยความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศอิตาลี โดยล่าสุด นายจูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีอิตาลี ขอประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพรรคลีค ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้ตัดสินใจยื่นมติไม่ไว้วางใจ โดยนายจูเซปเป คอนเต ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาจะยื่นจดหมายลาออกต่อนายเซอร์จิโอ แมตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า รัฐบาลชุดใหม่จะมาจากการเลือกตั้งก่อนกำหนด หรือจะรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองเดิมเพื่อจัดตั้ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1086-1.1105 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1094/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (21/8) เปิดตลาดที่ระดับ 106.33/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/8) ที่ระดับ 106.36/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนยังคงจับตามองถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ซึ่งจะมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเมืองแจ็กสัน โฮล ในวันศุกร์ (23/8) นี้ อย่างไรก็ตามค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าระหว่างวันเนื่องจากนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเรื่องข้อพิพาทระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ล่าสุดทางประเทศญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกเพิ่มเติม ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.21-106.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.51/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคผลิตและบริการขั้นต้นเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (22/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคผลิตและบริการเดือนสิงหาคมของเยอรมนี (22/8) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคมจาก Conference Board ของสหรัฐ (22/8) ยอดขายบ้านใหม่เดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (23/8) ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานแห่งชาติของญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคม (23/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.5/+3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ