ตั้งรับเศรษฐกิจโลกถดถอย ‘สภาพัฒน์’ ส่งสัญญาณขาลง-ซึมยาว

สารพัดปัจจัยลบจากภายใน-นอกประเทศ ถูกแถลงผ่านทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจทั้งของรัฐ-เอกชน 

ล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/2562 และแนวโน้มปี 2562

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒน์ บอกว่า “เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เราแค่เซนิดหน่อย” 

ส่งออกลดลงทุกรายการ

เลขาธิการสภาพัฒน์อธิบายว่า ขยายตัวน้อยลง สาเหตุหลักมาจากการส่งออกสินค้าลดลง 4.2%

ตัวเลขส่งออกสินค้าที่ลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส อาทิ ข้าว -23% มันสำปะหลัง -14.1% ยางพารา -11.8% กุ้งปูกระป๋องแปรรูป -11.6% รถยนต์นั่ง -12.9% อิเล็กทรอนิกส์ -9.5%

การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวต่ำลง เหลือเพียง 2.2%

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4%

เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าถึง 22.8% 

ส่วนการบริโภคของรัฐขยายตัวเพียง 1.1% เนื่องจากอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย 19.7%

ภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจน จาก 4.9% ในไตรมาสก่อน เหลือเพียง 3.7% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 8.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียง 1.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

“ส่วนด้านการผลิตทั้งสาขาเกษตรกรรมและสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงทั้งหมด เหตุมาจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในส่วนของภาคผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 0.2% ผลผลิตที่สำคัญลดลง ได้แก่ ยาง น้ำตาล เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลจากสงครามทางการค้า” 

ยังตั้งเป้าขยายตัวได้ถึง 3% 

นายทศพรกล่าวต่อว่า แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2 จะขยายตัวในระดับ 2.3% แต่คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 2.7-3.2% คาดว่าค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.0% เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัว การใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอยู่ระดับ 1.5

มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างเช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ชิม ช็อป ใช้” หนุนฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว เปิดการต่ออายุวีซ่า On Arrival นักท่องเที่ยวจนถึงเมษายน 2563 หนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง

พลิกวิกฤตสงครามอเมริกา-จีนสู่โอกาส

“นายวิชญายุทธ บุญชิต” รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การส่งออกในครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากยังมีสินค้าส่งออกหลายรายได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้าทั้งสหรัฐและจีน

ยังพบว่ามีหลายบริษัทเตรียมย้ายฐานการผลิตมายังไทยถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเข้าไปดึงดูดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าเข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

จับตาปัจจัยเสี่ยง-Recession 

นายวิชญายุทธกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอยู่ในเกณฑ์สูง ยังมีความกังวล และต้องจับตาประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจยูโรโซน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงการเข้าสู่ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ

ดัชนีที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงเรื่องการถดถอยคือยูโรโซน เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศสำคัญในไตรมาส 2 อย่างเยอรมนี ขยายตัวลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอย 

ขณะที่อิตาลีไม่มีการขยายตัว 0% อยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยง ภาวะเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างฝรั่งเศสขยายตัว 0.2% เศรษฐกิจยูโรโซนอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐ ภายใต้มาตรการ 232 Trade Expansion Act. of 1962 อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศผู้ส่งออกหมวดหมู่สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน

ตั้งรับวัฏจักรตกต่ำ เศรษฐกิจโลกซึมยาว 

รองเลขาธิการ สศช.วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่นำไปสู่การ recession อีกดัชนีคือ เศรษฐกิจสหรัฐ ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว และการปรับตัวลดลงของตลาดหลักทรัพย์ จากข้อมูลการ recession ของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา จะเกิดควบคู่ไปกับการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ยิ่งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงมากเพียงใด โอกาสที่จะเกิด recession ก็มีมากขึ้นเท่านั้น

นับจากช่วงทศวรรษที่ 1950 นั้นเคยมีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่ำกว่าร้อยละ 19 จำนวน 14 ครั้ง และ 8 ใน 14 ครั้งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับ recession อาจเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลง

“สำคัญคือประเทศสำคัญต่าง ๆ ถือว่าอยู่ในภาวะที่นโยบายการเงินการคลังกระสุนหมด หนี้สาธารณะสูง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับติดลบหรือใกล้ 0% ทั้งนั้น ถ้าเกิด recession พร้อม ๆ กันทั้งสหรัฐ ยุโรป และจีน เศรษฐกิจโลกคงซึมไปนาน”

“ดังนั้นก็จงตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีเงินอยู่ก็อย่าเอามาใช้จนหมด เพราะว่าเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ดี เก็บไว้ใช้ยามจำเป็นบ้าง และถ้าเกิดขึ้นจริง ๆ ก็ลองดูว่าเรามีโอกาสอะไรบ้าง จงใช้โอกาสนั้นให้มากที่สุด หากเศรษฐกิจโลกถดถอย วันหน้าก็จะฟื้นเพราะมันเป็นกฎของวัฏจักร เราเตรียมตัวไว้สำหรับวันที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดีเมื่อวัฏจักรปรับเข้าสู่ช่วงขาขึ้นเราก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!