สลากยันพิมพ์ 100 ล.ฉบับช่วยได้ เพิ่มโควตาจูงใจผู้ค้าขาย 80 บาท

สำนักงานสลากฯมั่นใจพิมพ์สลาก 100 ล้านฉบับต่องวด แก้ปัญหา “ขายเกินราคา” ได้ระดับหนึ่ง รับยังคุมไม่ได้เบ็ดเสร็จเลขเด็ดงวด 16 ส.ค.ดันราคาพุ่ง 200 บาทต่อใบ เดินหน้าใช้แอป “GLO Lottery Official” สแกนพฤติกรรมผู้ขาย เล็งจูงใจตัวแทนที่ไม่ขายเกินราคา ให้โควตาเพิ่มเป็น 10 เล่ม จากเดิมได้อยู่ 5 เล่ม

พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานสลากฯเพิ่มการพิมพ์สลากฯเป็น 100 ล้านฉบับต่องวด โดยพิมพ์เต็มเพดาน 100 ล้านฉบับ ในงวด 16 ส.ค. 62 เป็นงวดแรก เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญการขายสลากฯเกินราคาได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีสลากฯออกมาเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าในช่วง 1-2 วันก่อนการประกาศผลรางวัล มีการขายสลากฯราคาใบละ 70 บาท ต่ำกว่าราคามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีการขายสลากฯเกินราคา โดยเฉพาะในงวด 16 ส.ค. 62 ที่มีการขายถึงใบละ 200 บาทในเลขดังที่ประชาชนสนใจ

ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ สำนักงานสลากฯได้ปรับสัดส่วนช่องทางการขายผ่านระบบซื้อ-จองเพิ่มขึ้นที่ 6.2 แสนเล่มต่องวด จากเดิมอยู่ที่ 6 แสนเล่มต่องวด ซึ่งจะช่วยกระจายสลากฯไปยังผู้ซื้อรายย่อยได้มากขึ้น และจะช่วยลดการขายสลากฯเกินราคาได้ต่อไป เนื่องจากผู้จองซื้อไม่ต้องรับซื้อจากตัวกลางอีกทอดหนึ่ง โดยปัจจุบันสำนักงานสลากฯมีตัวแทนขายสลากฯรวม 3 หมื่นราย ขณะที่สัดส่วนผู้จองซื้อทั่วประเทศอยู่ที่ 1.2 แสนราย

พ.ต.อ.บุญส่งกล่าวอีกว่า สำนักงานสลากฯได้เปิดให้ผู้ขายและประชาชนลงทะเบียนบนแอปพลิเคชั่น “GLO Lottery Official” เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแอปพลิเคชั่นดังกล่าวสามารถตรวจผลรางวัล แจ้งข้อมูล และบันทึกผลสลากฯได้ โดยภายใน 3 เดือนนี้ (ส.ค.-ต.ค. 62) จะมีการประเมินผลเพื่อนำไปพิจารณาเพิ่มโควตาให้กับผู้จอง-ซื้อสลากฯรายที่มีความประพฤติดี หรือขายสลากฯในราคาที่สำนักงานสลากฯตั้งไว้ที่ใบละ 80 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ผู้จองซื้อสลากฯได้รับสลากฯเพิ่มถึง 10 เล่ม จากเดิมโควตาคนละ 5 เล่มเท่านั้น

“เราเปิดให้ตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ซื้อสลากฯรายย่อยที่มารับสลากฯทยอยดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิสูจน์ตัวตนของผู้ขายว่ามีตัวตนอยู่จริง และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสลากฯประเมินผู้ขายได้ว่าผู้ขายขายสลากฯเกินราคาหรือไม่” พ.ต.อ.บุญส่งกล่าว

ส่วน “สลากฯภาพ 12 นักษัตร” ที่คณะกรรมการสลากฯให้พิจารณาก่อนหน้านี้ยังเป็นเพียงแนวความคิดอยู่เท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะทำหรือไม่ โดยสำนักงานสลากฯยังมีการศึกษาสลากฯรูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปว่าจะทำสลากฯรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งออกมาจำหน่ายเพิ่มเติม เนื่องจากต้องมีกระบวนการทำประชาพิจารณ์เพื่อประเมินกระแสสังคมด้วย

“สำนักงานสลากฯจะต้องนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่สังคมเสนอไปทบทวน รวมถึงพิจารณาผลกระทบต่าง ๆ ให้ชัดเจนจึงจะสามารถดำเนินการต่อได้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่ระบุว่า ถ้าสำนักงานสลากฯจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่จะต้องสอบถามความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและศึกษาผลกระทบก่อน” พ.ต.อ.บุญส่งกล่าว

พ.ต.อ.บุญส่งกล่าวด้วยว่า ส่วนการจะนำสลากฯภาพ 12 นักษัตร ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรูปแบบสลากฯในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น มาจำหน่าย เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการขายสลากฯเกินราคาได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้ผู้ซื้อ อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้ยังต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมของไทยที่แตกต่างกับต่างประเทศ รวมถึงจะต้องนำข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาหารือ เพื่อปรับรูปแบบสลากฯใหม่ที่จะออกมาให้เหมาะสมกับสังคมไทย