วิรไท สันติประภพ : รับมืออย่างไรในโลกที่ไม่แน่นอน

วันที่ 19 ส.ค. 2562 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนทนากับ
ผศ. ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2562 “รับมืออย่างไรในโลกที่ไม่แน่นอน” สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ท่านผู้ว่าการมองสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังอย่างไร และมีประเด็นอะไรที่ต้องสนใจเป็นพิเศษ

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีความอ่อนไหวและเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ–จีน มีผลกระทบชัดเจนขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตในอัตราชะลอลงกว่าที่เคยคาด ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายประการ

ปัจจัยแรก คือ การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่คาดและอาจไม่จบลงง่าย ๆ เดิมคาดหวังว่าจะมีการเจรจาที่นำไปสู่ข้อสรุป แต่เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศจะเพิ่มกำแพงภาษีกับสินค้ามูลค่า 3 แสนล้านเหรียญ USD ของจีน และประกาศว่าจีนเข้าไปแทรกแซงค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่าเรื่องนี้อาจไม่จบลงง่ายและสร้างความไม่แน่นอนให้นักธุรกิจทั่วโลก

นอกจากนี้ การกีดกันทางการค้าไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ชี้ให้เห็นว่า “การเมืองเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจ” หรือการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ อยากให้ทางการเม็กซิโกช่วยแก้ปัญหาเรื่องผู้อพยพ และขู่ว่าถ้าเม็กซิโกไม่ช่วยอาจพิจารณาเพิ่มกำแพงภาษี  สะท้อนให้เห็นว่าการเจรจาการค้าสมัยก่อนจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันถูกโยงเข้าไปเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูง และปีหน้า 2563 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีโอกาสที่สหรัฐฯ อาจจะมีมาตรการต่าง  ๆ ที่เราคาดไม่ถึงเพิ่มเติมได้

ปัจจัยที่สอง คือ การถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไรหรือมีผลกระทบรุนแรงแค่ไหน แต่บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตั้งใจว่าจะพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปให้ได้ภายใน 31 ต.ค. นี้ แม้จะต้องออกโดยไม่มีการตกลงใด ๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกับห่วงโซ่การผลิตของสินค้าหลายประเภท อาทิ อาหารและยา

ปัจจัยที่สาม คือ บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศ ที่เปราะบางมากขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์ในอิหร่านที่มี การยึดเรือบรรทุกน้ำมัน ความขัดแย้งของอินเดียกับปากีสถานในแคว้นแคชเมียร์ที่สงบมานาน หรือการประท้วงในฮ่องกง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางและความไม่แน่นอนมากขึ้น

แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเปราะบางขึ้น ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ สถานการณ์ในปัจจุบันต่างจากช่วงเกิดวิกฤติ ค.ศ. 2008 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่หดตัว แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศหลักเช่น สหรัฐฯ ยังเติบโตได้ค่อนข้างดีและมีการจ้างงานสูง ส่วนเศรษฐกิจจีนแม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังขยายตัวมากกว่า 6% ไม่ได้หดตัว

ปัจจัยความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร ?

เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบเปิดที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น สถานการณ์ด้านต่างประเทศที่เปราะบางส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยตรง เมื่อต้นปี กนง. เคยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 นี้จะเติบโตประมาณ 3.8% แต่ล่าสุดเมื่อ มิ.ย. กนง. ได้ปรับประมาณการณ์ของปีนี้ลงเหลือ 3.3% สาเหตุสำคัญเนื่องจากการส่งออกที่ชะลอลงมาก และอาจปรับลงอีกเพราะการกีดกันทางการค้ารุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มที่อาจไม่จบลงโดยง่าย

สิ่งที่เรากังวล คือ การส่งออกที่หดตัวเริ่มมีผลกระทบไปสู่การจ้างงาน ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ของประชาชน ที่อยู่ในตลาดแรงงาน การบริโภคในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากเริ่มชะลอลง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การลงทุนของภาคเอกชนชะลอลงด้วย ตัวเลข GDP ของไตรมาส 2 สะท้อนให้เห็นชัดว่า การลงทุนของภาคเอกชนโตน้อยกว่าเดิมมาก เพราะเมื่อมีความไม่แน่นอน ผู้ประกอบการก็ระมัดระวัง

อย่างไรก็ดี เราเห็นการส่งออกของไทยช่วง  เดือนแรกของปีนี้ติดลบ 4 – 5% อาจกังวลใจ แต่ถ้าดูตัวเลขการส่งออกของบางประเทศเพื่อนบ้านเช่น สิงคโปร์ การส่งออกติดลบมากกว่า 10% ขณะที่เกาหลีและไต้หวันติดลบมาก โดยเปรียบเทียบแล้วการส่งออกของไทยติดลบน้อยกว่าหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีสินค้าส่งออกหลากหลาย ไม่ได้พึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างเดียว และยังได้รับอานิสงส์จากตลาดประเทศ CLMV ที่ยังเติบโตได้ดี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การส่งออกของไทยไม่หดตัวแรงเหมือนประเทศอื่น

ผลกระทบอีกเรื่องที่ต้องติดตามคือผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง ระบบการเงินโลกยังมีสภาพคล่องสูงมาก ประกอบกับธนาคารกลางของประเทศหลักกลับมาทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ปลายปีก่อน FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่วันนี้กลับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะกังวลเรื่องสงครามการค้า ธนาคารกลางหลายแห่งรวมทั้งไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยด้วย ซึ่งเท่ากับมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินโลกร่วมกันมากขึ้น เงินนับเปรียบเสมือนน้ำ เวลามีมากก็ไหลแรง สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกที่มีมากขึ้นก็เช้นกัน จะกระทบอัตราแลกเปลี่ยน ราคาหุ้นและพันธบัตร ในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์จะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น

เงินบาทในปัจจุบันที่แข็งค่าขึ้นเกิดจากอะไร ?

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราไม่สบายใจ แต่อยากจะใช้โอกาสนี้อธิบาย เวลาเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์บอกว่าเงินร้อนมาพักในประเทศไทย หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่สูง ทำให้เงินบาทแข็งค่า ก็ต้องมาดูว่าข้อเท็จจริงคืออะไร

  1. ช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. – มิ.ย. 62) ไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก ประมาณ 17,000 ล้านเหรียญ USD และคาดว่าทั้งปี 2562 ไทยจะเกินดุล 27,000 – 28,000 ล้านเหรียญ USD การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด คือการที่เรามีรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศ ทั้งจากการส่งออกและท่องเที่ยวมากกว่ารายจ่ายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า และเป็นเหมือนลมใต้ปีกที่ทำให้เมื่อค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น เงินบาทก็แข็งด้วย แต่ด้านตรงข้าม เมื่อสกุลเงินประเทศอื่นอ่อนค่า เงินบาทกลับไม่ค่อยอ่อนตาม

แม้ไทยจะมีการส่งออกลดลง แต่การนำเข้าวัตถุดิบก็ลดลงด้วย ทำให้ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5-6% ของ GDP ในขณะที่เงินจากต่างประเทศที่มาลงทุนในหุ้นและพันธบัตรไทยในช่วง ม.ค. – ก.ค. 62 มีเพียง 1,100 – 1,200 ล้านเหรียญ USD (ไม่ถึง 10% ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด) และมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 5,000 ล้านเหรียญ USD

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

  1. สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในภูมิภาคและต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ (2.00 – 2.25%) อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงินที่รัฐบาลไทยกู้เงินได้ถูกกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Markets)

ช่วงที่เงินบาทผันผวน แข็งค่าเร็ว ธปท. มีมาตรการดูแลอย่างไร และผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร

ที่ผ่านมา บางช่วงเงินบาทแข็งค่าเร็วไม่สอดคล้องกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ธปท. ได้เข้าดูแลเพื่อไม่ให้เงินบาทผันผวนมากจนเกินไปจนกระทบกับเศรษฐกิจ สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วง ม.ค. – มิ.ย. 62 เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ธปท. ยังมีมาตรการดูแล 3 เรื่อง ดังนี้

  1. ลดแรงกระแทกจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นให้น้อยลง โดยมีมาตรการเชิงป้องกันที่ลดทอนช่องทางเก็งกำไร เช่น การลดยอดคงค้างต่อวันของบัญชีนักลงทุนต่างประเทศกลุ่มที่มีบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA)
  2. ลดโอกาสที่ต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินโดยรวม จึงมีการเตรียมมาตรการต่าง ๆ ให้พร้อมนำออกใช้ในกรณีจำเป็น
  3. เปิดเสรีให้คนไทยนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลให้เงินเข้าและออก ด้วยการผ่อนคลายเกณฑ์เรื่องควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินอย่างต่อเนื่อง

แต่เรื่องที่สำคัญกว่า คือ เราจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้อย่างไร ในหลายประเทศ ธนาคารกลางไม่แทรกแซงเลย สกุลเงินของเขาผันผวนมาก แต่ทำไมผู้ประกอบการในประเทศเหล่านั้นยังสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดี

เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แม้ไม่มีใครรู้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไรแน่ เพราะส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม แต่อย่างหนึ่งที่บอกได้ คือ มองไปข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในตอนต้น ทั้งนี้ ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการสามารถทำได้หลายวิธี เริ่มจากการเลือกใช้เงินบาทหรือเงินสกุลคู่ค้า (Local Currency) เป็น invoicing currency แทนเงิน USD ที่มีแนวโน้มผันผวน

ปัจจุบันการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ มีเพียง 11 – 12% แต่ผู้ประกอบการไทยยังใช้ USD เป็น invoicing currency มากกว่า 70% ในเรื่องนี้ ธปท. ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารกลางหลายแห่ง อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น จีน เพื่อส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นของการใช้เงินสกุลหลัก เราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีในหลายด้าน

กรณีของจีนเดิมใช้เงินบาทได้เฉพาะมณฑลยูนนาน แต่ตอนนี้สามารถใช้ได้ทั่วประเทศจีนแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกที่การส่งออกไปเมียนมามีการ quote เป็นเงินบาทมากกว่า 50% ในขณะที่การส่งออกไปออสเตรเลียกับแอฟริกาใต้ quote เป็นเงินบาทมากกว่า 30% แล้ว เพราะมีสัดส่วนรถยนต์ส่งออกสูง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น Forward หรือ Option เพื่อป้องกันความเสี่ยง FX ได้ ตั้งแต่ปีก่อน ธปท. ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดให้มีโครงการ Option ช่วยชาติ โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าธรรมเนียมการซื้อ Option แก่ผู้ประกอบการ SME รายละ 50,000 บาท ซึ่งสามารถใช้ lock rate ประกันความเสี่ยง FX ได้ประมาณ 1.5 แสนเหรียญ USD เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการลองใช้

สำหรับผู้ประกอบการที่มีภาระต้องชำระเงินในรูปสกุลเงินต่างประเทศ (ที่ยังไม่ต้องแลกเปลี่ยนเป็นบาท) สามารถฝากเงินตราต่างประเทศไว้ที่บัญชี FCD หรือบัญชีเงินฝากที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

จากการศึกษาพบว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงน้อย เพราะอาจชะล่าใจ คิดว่า ธปท. ช่วยดูแล แต่ ธปท. ดูแลได้เพียงปัจจัยภายในประเทศ ไม่สามารถบริหารจัดการปัจจัยภายนอกได้ และช่วงหลัง สหรัฐฯ จับตามองมากขึ้นว่า ประเทศไหนดูแลค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

โดยจัดให้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ จีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อนี้ ไทยจึงต้องระมัดระวัง ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าจำเป็นต้องซื้อประกันเพื่อบริหารความเสี่ยง FX เหมือนซื้อประกันเรื่องอื่นอย่างสม่ำเสมอ

ล่าสุดที่ GDP ไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าคาดที่ 2.3% เศรษฐกิจไทยมีอะไรที่ต้องกังวล แค่ไหนและอย่างไร

4-5 ปีก่อนที่มีสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง GDP ตอนนั้นประมาณ 1.0% ส่วน GDP ก็ไม่ได้แย่นัก เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังเข้มแข็ง ไทยมีกันชนที่ดีในหลายด้าน เช่น ฐานะด้านต่างประเทศของเราเข้มแข็งมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง เกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก เราพึ่งเงินจากต่างประเทศน้อยมากต่างจากปี 2540 ที่ไทยต้องพึ่งพาเงินจากต่างประเทศ ตอนนั้นขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 7% ของ GDP

แต่ปีนี้เกินดุล 6% ของ GDP สถาบันการเงินไทยมีเงินทุนเพิ่มมากขึ้น NPL อยู่ในระดับต่ำ จึงไม่มีวิกฤติทางการเงิน โครงสร้างทางเศรษฐกิจในปัจจุบันต่างจากปี 2540 มาก

โจทย์ที่สำคัญมากกว่าสำหรับพวกเราทุกคน คือ ถ้ามองไกลไปในอนาคต เราต้องทำอะไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น บางคนมองการเปลี่ยนแปลงว่าน่ากลัว แต่อันที่จริงแล้ว ในทุกการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย

มองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยใน 3 เรื่องที่จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับทุกคน ได้แก่

  1. พัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (Disruptive Technology) ด้านหนึ่งกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม เช่น สื่อมวลชนที่ต้องปรับตัว หรือแม้แต่ภาคการเงินที่ ธพ. อาจต้องปิดสาขา แต่อีกด้านหนึ่ง ระบบพร้อมเพย์ ช่วยให้ประชาชนโอนเงินได้ถูกลงและเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น เห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะกระทบทุกอุตสาหกรรมและพวกเราทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  2. การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะนำมาซึ่งความท้าทายที่เราจะมีผู้สูงอายุในครอบครัวให้ดูแลมากขึ้น แต่ก็จะเกิดโอกาสทางธุรกิจและตลาดใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ ยา อาหาร เสื้อผ้า และอุปกรณ์เครื่องใช้ของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก
  3. ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องนี้มาก สหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยเป็นภาคีด้วย ความตื่นตัวในเรื่องนี้ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ หลายอย่าง อาทิ เกษตรอินทรีย์ซึ่งภาคอีสานสามารถเป็นแหล่งผลิตสำคัญ การรณรงค์หยุดใช้พลาสติกทำให้เกิดธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในช่วงต่อไปจะเร็วขึ้น และมีผลที่กว้างไกลกว่าเดิม ประสบการณ์ที่โลกเปลี่ยนแปลงในหลายช่วงชี้ว่า เมื่อ disruption มาถึง จะมีหลายธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่รู้จะปรับตัวอย่างไร สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรคนไทยและธุรกิจไทยจะก้าวทันกับเทรนด์ใหม่ ๆ และต้องปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ

วันนี้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจถูกลง เช่น การขายของผ่าน e-Commerce หรือ Line ที่ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องมีหน้าร้าน หรือธุรกิจสามารถเก็บข้อมูลบน Cloud แทนที่จะซื้อ server ของตัวเอง และสามารถทำงานร่วมกันได้ทุกที่ สำหรับเรื่องการเงิน ด้านหนึ่งฟินเทคช่วยให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมถูกลง สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินง่ายขึ้น แต่อีกด้านทำให้การออมต่ำลง เพราะใช้จ่ายง่ายขึ้น ประชาชนจึงควรระมัดระวังมากขึ้น เดิมเคยขี่จักรยาน แต่พอเปลี่ยนมาขี่มอเตอร์ไซด์ที่เร็วขึ้น ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น

ทำไม ธปท. กังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือนและได้ดำเนินการแก้ไขอย่างไรบ้าง

ระดับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันของไทยสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่ง ธปท. ไม่สบายใจ และออกมาเตือนในหลายโอกาส ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นนั้น มาจากหลายปัจจัย อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็ทำให้ประชาชนไม่มีแรงจูงใจในการออมประกอบกับมีแรงกระตุ้นให้ใช้จ่ายมากขึ้นด้วย ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่งผล 2 ระดับ กล่าวคือ

ระดับมหภาค ถ้าหนี้ครัวเรือนสูง คนจะมีอำนาจซื้อน้อยลง ปัจจุบันเราเห็นตัวเลขจ้างงานในประเทศที่ดีขึ้นแต่การบริโภคกลับไม่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สอดคล้องกัน เพราะประชาชนต้องเอาเงินไปใช้หนี้ อำนาจการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ปกติการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือเงินออม แต่ คนไทยหลายคนเกษียณพร้อมหนี้แทนที่จะมีเงินออม ซึ่งอาจจะกลายเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องเข้าไปดูแล

ระดับบุคคลหรือครอบครัว ถ้าดูข้อมูลรายสัญญาใน Credit Bureau พบสัญญาณที่น่าเป็นห่วงหลายอย่าง (1) คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น หนี้ 1 ใน 5 ของคนอายุ 30 ปีเป็นหนี้เสีย หรือ NPL (2) คนไทยเป็นหนี้มากขึ้นและ (3) คนไทยเป็นหนี้นานขึ้น คือ เข้าสู่วัยเกษียณแล้วหนี้ก็ไม่ลดลง คนที่เป็นหนี้และออกจากวงจรหนี้ไม่ได้มักจะเครียดและกังวล จนส่งผลต่อการทำงาน และผลิตภาพทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศ

ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการใน 3 ส่วนควบคู่กันเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

  1. กำกับดูแลสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้บริการ – ให้ปล่อยกู้รัดกุมและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่หย่อนมาตรฐานจนเกิดผลเสียต่อผู้กู้และระบบ ที่ผ่านมา ธปท. ออกมาตรการกำกับดูแลการให้บัตรเครดิต สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมทั้งล่าสุด สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เพื่อคุมดีมานด์เทียม สินเชื่อเงินทอน การกู้เพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 3 ซึ่งหากสถาบันการเงินแข่งขันกันเกินพอดี จะทำให้คนกลายเป็นหนี้เกินกว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ เนื่องจากประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร เช่น ซื้อบ้านหลายหลังโดยมีภาพลวงว่าราคาบ้านจะสูงขึ้นต่อเนื่องและปล่อยเช่าได้ โดยไม่ดูภาพรวมว่ามี supply ส่วนเกินมาก
  2. การช่วยเหลือลูกหนี้ที่ติดในวงจรหนี้ – โดยการตั้งคลินิกแก้หนี้ เพื่อแก้ปัญหาหนี้จากบัตรเครดิตที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติการเจรจาจะสำเร็จได้ยากเพราะต้องเจรจากับธนาคารทีละรายและมักโดนเรียกคืนหนี้ให้เร็วที่สุด บบส.สุขุมวิท (SAM) จะเป็นตัวกลางช่วยเจรจาหนี้ ลูกหนี้จึงไม่ต้องไปพบเจ้าหนี้แต่ละราย ข้อเสนอพิเศษของโครงการคือจ่ายคืนเฉพาะเงินต้น สามารถยืดหนี้ได้ถึง 10 ปี ดอกเบี้ยไม่เกิน 7% ผ่อนครบแล้วก็ยกดอกเบี้ยค้างชำระที่พักไว้ให้ ทั้งนี้ กระบวนการให้คำปรึกษาเรื่องแก้หนี้ ดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงิน เป็นที่น่ายินดีว่า มีผู้ประกอบการหลายแห่งที่เห็นปัญหาของการที่พนักงานเป็นหนี้ และพยายามที่จะประสานให้เข้าร่วมโครงการ
  3. การให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ ในหลายประเทศสอนกันตั้งแต่วัยเรียน แต่ปัจจุบันคนไทยอาจยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออม ไม่มีการสอนความรู้ทางการเงินในโรงเรียน เรื่องนี้จึงถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายร่วมกันผลักดันในทุกระดับ ธปท. มีทีมให้ความรู้ทางการเงินที่จะช่วยอบรมฝ่าย HR ขององค์กรต่าง ๆเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเราจับมือกัน การเปลี่ยนแปลงที่ดีจะเกิดขึ้นได้

เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงกว่าที่คาด เป็นเหตุให้ กนง. ลดดอกเบี้ยและดำเนินนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายหรือไม่ ?

ในการดำเนินนโยบายการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง

  1. เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย ภารกิจหลักของ ธปท. ในฐานะธนาคารกลาง คือการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พูดง่าย ๆ คือการรักษามูลค่าเงินและทรัพย์สินของคนไทยไม่ให้ด้อยค่าลงจากเงินเฟ้อ
  2. การขยายตัวของเศรษฐกิจสองคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย
  3. เสถียรภาพของระบบการเงิน คือ ดูแลไม่ให้เกิดฟองสบู่หรือจุดเปราะบางในระบบการเงินที่อาจนำไปสู่วิกฤติการเงินในอนาคต เพราะอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อพฤติกรรมของคนและมีผลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ คนก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะออม มีแนวโน้มที่จะก่อหนี้ และถ้าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดพฤติกรรม search for yield คือการหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยอาจจะไม่ประเมินความเสี่ยงเท่าที่ควร

ในการประชุม กนง. ครั้งที่ผ่านมา กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ซึ่ง กนง. ชั่งน้ำหนักทั้ง 3 เรื่องที่กล่าวข้างต้นและตัดสินใจโดยใช้หลัก data dependent คือดูข้อมูลล่าสุดที่หลากหลายประเภท โดย กนง. เห็นว่าหลายอย่างไม่เป็นไปตามที่คาด โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เดิมคาดว่าจะมีทางออก ผลกระทบชัดเจนขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง การส่งออกหดตัว เริ่มส่งผลต่อการจ้างงาน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาภัยแล้งรุนแรงในบางพื้นที่ และการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

อย่างไรก็ดี ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า เรามักสนใจแต่เรื่องระยะสั้น เช่น GDP ปีนี้โตเท่าไร ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราเสียสมาธิและไม่ให้ความสำคัญกับเรี่องระยะยาว เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินโลกที่กำลังเกิดขึ้น

มองไปข้างหน้าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือเทรนด์ของโลกเรื่องความยั่งยืน และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะเป็นเรื่องสำคัญที่นำมาทั้งความเสี่ยงและความท้าทาย ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้คนไทย ธุรกิจไทย เก่งขึ้น มีผลิตภาพที่ดีขึ้น มีภูมิต้านทานและภูมิคุ้มกันที่ดี

แบงก์ชาติยินดีเป็นพันธมิตรกับท่าน ถ้าเราเป็นประโยชน์ไม่ว่าในมิติใดก็ตาม เรายินดีทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ธุรกิจไทยเก่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น คนไทยเก่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น และสามารถเท่าทันกับความเสี่ยงใหม่ ๆ นโยบายต่าง ๆ ที่ภาครัฐทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การประกันรายได้เกษตรกร การปรับลดดอกเบี้ยของ ธปท. ทั้งหมดเป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้นที่ภาครัฐเข้าไปเยียวยา

แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือการร่วมกันปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้บริหารและผู้ประกอบการทุกท่าน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่ควรสนใจแค่ว่า GDP ปีนี้จะโตเท่าไร แต่ทำอย่างไร GDP จะปรับเพิ่มจากปัจจุบันที่เฉลี่ย 3% เป็น 4% หรือ 5% ในระยะยาว