ธปท.คุมเข้มแบงก์ปล่อยกู้รายย่อย ดีเดย์ 1 มค. 63 ตรวจทุกสัญญา-ลดก่อหนี้เกินตัว

จันทวรรณ สุจริตกุล

ธปท.จ่อประกาศใช้แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม คุมพฤติกรรมแบงก์ ดีเดย์ 1 ม.ค. 63 เปิดรับฟังความเห็นถึง 30 ส.ค.นี้ รองผู้ว่าฯการ ธปท.ระบุปีหน้าแบงก์ชาติติดตามพฤติกรรมปล่อยกู้รายย่อยใกล้ชิดเป็นรายแบงก์-ให้รายงานข้อมูลทุกสัญญา ฟาก “BBL-KBANK” ขานรับนโยบาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือนไทย ผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. ตั้งแต่ 2 ส.ค.-30 ส.ค.นี้ โดยหลังจากนั้น ธปท.จะขอให้สถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทแม่ บริษัทลูก และบริษัทร่วมทุกแห่งของสถาบันการเงินในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน นำแนวนโยบายฉบับนี้มาใช้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป และขอให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่ให้สินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) พิจารณานำไปใช้ด้วย

ทั้งนี้ ขอบเขตที่จะนำมาใช้จะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่เป็นสินเชื่อและธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ (การให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่ง) แก่บุคคลธรรมดา โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินควรมีการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ตามที่ได้มีการลงนามร่วมกับสถาบันการเงิน 15 แห่งไป เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา

ด้านการอนุมัติสินเชื่อนั้น ธปท.ขอให้มีการประเมินความสามารถในการชำระหนี้อย่างถี่ถ้วน โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดเทียบกับรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ รวมถึงพิจารณาด้วยว่า ลูกค้าจะมีเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดเพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่ ซึ่งควรนำอัตราส่วนภาระหนี้ทั้งหมดต่อรายได้ลูกค้า (DSR) มาใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการก่อหนี้เกินตัว

นอกจากนี้ ด้านการเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก็ควรให้ข้อมูลและรายละเอียดแก่ลูกค้าอย่างครบถ้วน ชัดเจน ไม่กระตุ้นหรือชักจูงให้ลูกค้าก่อหนี้เกินจำเป็น ไม่ชักจูงให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตที่ยังไม่ได้ใช้เป็นวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่ออื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ไม่เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลให้โดยที่ลูกค้าไม่ได้ร้องขอ

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะเริ่มนำแนวนโยบายที่เปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาใช้ วันที่ 1 ม.ค. 2563 โดยที่ ธปท.จะดำเนินการใน 2 ส่วนหลังจากนั้น ได้แก่ 1) ธปท.จะติดตามการวางแนวนโยบาย และกระบวนการทำงาน (internal policy และ process) ของการปล่อยสินเชื่อรายย่อย (retail loan) เป็นรายสถาบันการเงิน (ธพ.) และ 2) ธปท.จะติดตามข้อมูลสินเชื่อรายย่อยเป็น “รายสัญญา” ที่จะเริ่มเก็บข้อมูลตามที่ตกลงกันไว้

“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างการเฮียริ่งแนวนโยบายเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแต่ธนาคารแต่รวมถึงประชาชน หรือผู้ที่เล็งเห็นว่าการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยอย่างไม่เหมาะสมจะนำมาซึ่งปัญหาสังคม อย่างเช่น นักสังคมสงเคราะห์ หรือทนายความ เป็นต้น ก็สามารถให้ความเห็นได้”

นายโชค ณ ระนอง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า คงต้องดูมาตรการของ ธปท.ก่อน ว่าจะเข้มงวดมากแค่ไหน โดยธนาคาร จะต้องนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ในเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเชิญชวนให้ลูกค้าเข้ามาทำบัตรเครดิตโดยที่ไม่มีความต้องการนั้น ธนาคารกรุงเทพไม่ได้ใช้วิธีการหาลูกค้าแบบนั้นอยู่แล้ว

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติหรือกฎเกณฑ์ ธปท.ที่จะกำหนดออกมา จริง ๆ เป็นสิ่งที่แต่ละแบงก์ควรต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ที่ว่าแบงก์จะดำเนินการ (implement) ได้ดีมากน้อยแค่ไหน ช้าหรือเร็วก็พยายามเต็มที่ อย่างไรก็ดี ขอให้เท่าเทียมกัน หากบังคับใช้เกณฑ์นี้กับธนาคาร หวังว่าจะใช้เกณฑ์นี้กับน็อนแบงก์ หรือต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันในประเทศไทยด้วย