“ขุนคลัง” กางแผนจัดสรรงบประมาณปี’64 ขับเคลื่อนประเทศ ตุนมาตรการอัดฉีดสู้พิษศก.โลก

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง (แฟ้มภาพ)

รมว.คลัง เผยแผนจัดสรรงบประมาณปี’64 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน-พัฒนาสตาร์ทอัพ ดันไทยปรับเปลี่ยนประเทศ จับตาสงครามการค้าฯ พร้อมตั้งรับผ่านมาตรการอัดฉีดหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในงาน Dinner Talk ภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลใหม่” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า ตนเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ โดยในส่วนของกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลงบประมาณร่วมกับสำนักงบประมาณและกระทรวงอื่นๆ ได้จัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ให้เหมาะสม อีกทั้งมีการวางแผนจัดสรรงบประมาณในการลงทุนยาวถึงปี 2564 เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศ

โดยการลงทุนในระยะถัดไปจะให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้ทันกับสังคมโลกทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย เช่น ในส่วนของการส่งออกต้องการผลักดันให้ไทยส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าต้นทาง เป็นต้น

“จะต้องเริ่มตั้งแต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในด้านของดิจิทัล ซึ่งจะเข้ามาเป็นตัวการสำคัญทั้งในภาคธุรกิจและสังคม โดยรัฐบาลจะต้องลงทุนให้เห็น อย่างไรก็ตาม การลงทุนของรัฐยังมีงบประมาณจำกัดจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการลงทุน ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนต้องดีและเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อสนับสนุนการนำไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการให้ไทนศูนย์กลางของอาเซียน” นายอุตตม กล่าว

โดยในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมองว่าแม้บริษัทขนาดใหญ่จะมีศักยภาพในการลงทุน อย่างไรก็ตาม ต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนของบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก ซึ่งรัฐจะต้องเข้าไปช่วยหรือในเรื่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) โดยที่ผ่านมากรมสรรพากรได้มีส่วนสนับสนุนสตาร์ทอัพผ่านการมอบโจทย์ขององค์กรให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวนำไปคิด และนำแนวคิดที่ได้มาประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยชี้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศไทยที่จะต้องมีวิธีคิดรูปแบบใหม่หากต้องการผลลัพธ์ที่ใหม่

ในส่วนของสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจทั่วโลก นายอุตตม กล่าวว่า มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศสามารถหมุนเวียนต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดในการพึ่งพิงการส่งออกอยู่มาก

“เรายังไม่รู้ว่าในไตรมาส 3 และ 4 เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทยที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ไม่ชะงัก เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ เพราะหากการลงทุนเริ่มหดตัวจะส่งผลให้ความต้องการในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้ได้รับผลกระทบทางลบจากเศรษฐกิจโลกแรงขึ้น เราจึงพยายามประครองเศรษฐกิจไทยด้วยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา โดยเชื่อว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจไทยหมุนเวียนต่อไปได้” นายอุตตมกล่าว

ขณะที่ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทยยังเป็นบวก เนื่องจากไทยมีจุดเด่นในเรื่องของความแข็งแกร่งด้านการเงินและการคลังค่อนข้างสูง โดยพิจารณาจากการที่บริษัทจัดอันดับไม่ว่าจะเป็น “มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” หรือ “บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด” ปรับการจัดอันดับเรทติ้งของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากระดับ “เสถียรภาพ” เป็น “บวก” แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนเช่นนี้

“เหตุผลหลักที่ทำให้ต่างชาติยังมีมุมมองเป็นบวก ได้แก่ 1.วินัยการเงินการคลังของไทยยังมีความยืดหยุ่น หรือมีช่องว่างของนโยบาย (Policy Space) ที่จะสามารถจัดการกับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ และ 2.ต่างชาติยังเชื่อว่าไทยมีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่มองไปข้างหน้า รวมถึงเชื่อว่าไทยมีศักยภาพในการขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้” นายอุตตม กล่าว