ติดดาบแบงก์เร่งยึดทรัพย์ ล้างพอร์ตหนี้เน่า 2 แสนล้าน

แบงก์เฮ!กฎหมายวิธีแพ่งฉบับใหม่ เอื้อแบงก์ให้เคลียร์หนี้เสีย-ยึดทรัพย์เร็วขึ้น เผยลดขั้นตอน “ไม่ต้องยื่นศาล-ห้ามคัดค้านราคา-ห้ามร้องเพิกถอนการขาย” แบงก์กรุงไทยเผยทีมกฎหมายเตรียมพร้อมเร่งสางคดีค้างเก่าตามหนี้คืน กรมบังคับคดีเผยทรัพย์ค้างพอร์ตรอขายทอดตลาดกว่า 2 แสนล้าน 

ปลดล็อกยึดทรัพย์ 2 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากกรมบังคับคดี เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (วิฯ แพ่ง)ฉบับที่ 30 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 6 ก.ค. 2560 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป ถือเป็นการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการบังคับคดี รวมถึงลดโอกาสการใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อประวิงคดี โดยเฉพาะการขายทอดตลาดทรัพย์ที่อยู่ระหว่างรอการขายทอดตลาดจะทำได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีการลดขั้นตอนการขออนุญาตศาลขายทอดตลาดลง โดยการแก้ไขกฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้ก็จะรับชำระหนี้เร็วขึ้นช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ส่วนลูกหนี้การชำระหนี้ได้เร็วขึ้นก็ทำให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่ม เพราะตลอดเวลาที่อยู่ในกระบวนการบังคับคดี อัตราดอกเบี้ยก็ยังเดิน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัจจุบันกรมบังคับคดีมีทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างรอการขายทอดตลาดทั้งที่ดิน ห้องชุด ฯลฯ เป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งการระบายออกไปได้จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ

“กฎหมายวิฯ แพ่ง ฉบับนี้มีการเสนอแก้ไขมานานแล้ว แต่เรื่องไปค้างอยู่ที่กฤษฎีกา พอนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี มารับตำแหน่งเมื่อปี 2557 ก็ผลักดัน เนื่องจากมองว่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะเป็นปัจจัยบวกต่อการประเมินความยากง่าย ในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลกด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า กฎหมายใหม่ มีการลดขั้นตอนการขออนุญาตศาลขายทอดตลาด โดยกำหนดว่า เมื่อพ้นจาก 60 วัน นับตั้งแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์แล้ว ให้สามารถนำทรัพย์ที่ยึดมาออกขายทอดตลาดได้ทันที จากเดิมกว่าจะขออนุญาตศาลให้มีคำสั่งขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดมาได้มีหลายขั้นตอนซึ่งค่อนข้างใช้เวลานาน

ยกเลิกสิทธิคัดค้านขายทรัพย์

นอกจากนี้กฎหมายเก่าเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้รับจำนอง เจ้าของร่วม สามารถคัดค้านการขายทรัพย์ได้ เมื่อมีการคัดค้าน ก็ทำให้ต้องเลื่อนการขายทอดตลาดออกไปอีก 21 วัน และปกติจะมีการคัดค้านกันหลาย ๆ รอบ ทำให้การขายทอดตลาดล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นกฎหมายใหม่จะไม่ให้สิทธิในการคัดค้านการขายทรัพย์แล้ว แต่จะให้สิทธิในการหาคนเข้าไปสู้ราคาในการประมูลขายทรัพย์ได้เลย หรือจะเข้าไปร่วมเสนอราคาประมูลเองก็ได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กฎหมายใหม่ ยังมีการยกเลิกการเปิดให้ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์อันเนื่องมาจากขายที่เจ้าของทรัพย์มองว่าได้ราคาต่ำอีกด้วย ซึ่งกฎหมายเดิมสามารถร้องได้ โดยศาลจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 90 วัน แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถขอเปลี่ยนแปลงวิธีการขาย เป็นแบบแยกรายการ หรือขายรวมกันไป ในกรณีที่ยึดทรัพย์มาหลายรายการ โดยให้สิทธิร้องคัดค้านก่อนถึงวันขาย แต่ต้องภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันประกาศกรณีมีผู้อ้างว่าทรัพย์ที่ยึดไว้ไม่ใช่ทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา จะเปิดให้ยื่นคำร้องต่อศาลได้ภายใน 60 วัน นอกจากนี้ผู้ที่ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดสามารถขอให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้ออกจากพื้นที่ได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กฎหมายใหม่ยังให้ความคุ้มครองลูกหนี้มากขึ้น โดยกำหนดมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่สามารถยึดตามคำพิพากษาสูงขึ้นด้วย ได้แก่ทรัพย์สินของใช้ส่วนตัว เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือนไม่เกิน 20,000 บาท และส่วนของเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพไม่เกิน 100,000 บาท

นอกจากนี้ได้กำหนดทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี คือเป็นสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่อายัดไม่ได้ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และบำเหน็จหรือค่าชดเชยไม่เกิน 300,000 บาท

เอื้อแบงก์-เอื้อเศรษฐกิจ

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กล่าวว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ช่วยเร่งขบวนการบังคับคดี การยึดทรัพย์ต่าง ๆ ให้รวดเร็วขึ้นนั้น เชื่อว่าส่งผลดีระบบแบงก์ให้มีการเร่งเคลียร์หลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการบังคับคดีใด้รวดเร็วขึ้น เพราะเดิมเมื่อเข้าสู่ขบวนการฟ้องร้อง และการบังคับคดีของศาลจะต้องใช้ระยะเวลานาน เช่น บ้านที่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 4-5 ปี กว่าจะยึดทรัพย์ได้ กฎหมายฉบับนี้ก็ถือมาสร้างความเป็นธรรม และมาเร่งขั้นตอนต่าง ๆ ให้จบเร็วขึ้น

“กฎหมายนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลบวกต่อระบบแบงก์ แต่ยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจด้วย เพราะการเกิดเอ็นพีแอลในระบบเศรษฐกิจถือป็นการกระจายทรัพย์ที่ผิดเซ็กเตอร์ หากไม่สามารถนำกลับมากระจายใหม่ เศรษฐกิจก็ไม่มีทางจะฟื้นได้เร็ว โดยรวมแล้วกฎหมายนี้เป็นการทำให้แบงก์ยึดทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น จากเดิมกระบวนการบังคับคดีของอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าบ้านหรือโรงงานต่าง ๆ จะต้องใช้เวลาราว 4-5 ปี ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ของเราคือเมื่อเป็นหนี้เสียแล้ว กระบวนการยาวมากกว่าจะยึดทรัพย์ได้” นายบุญทักษ์กล่าว

โดยหลักทรัพย์ที่เป็นปัญหาอยู่ระหว่างการฟ้องร้องและเข้าสู่การบังคับคดีของธนาคาร ส่วนใหญ่ธนาคารได้มีการตั้งสำรองและตัดหนี้สูญ หรือ Write off ไปแล้ว โดยพอร์ตตอนนี้มีประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท

นายบุญทักษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือว่าเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางกฎหมาย คือกระบวนการยึดทรัพย์ต้องเร็ว แต่ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ก็มีการกฎหมายล้มละลายที่เอื้อให้ลูกหนี้มีเวลาในการปรับตัว และเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ถ้าปรับได้ก็เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายคือต่อแบงก์ ต่อลูกหนี้ แต่ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็ต้องทำให้กระบวนการยึดทรัพย์เร็ว กฎหมายทั้งสองตัว จึงเป็นกฎหมายที่ถ่วงดุลกัน และสร้างความเป็นธรรม ทั้งในส่วนของแบงก์และลูกหนี้

KTB เตรียมเอกสารเร่งคดี

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมตัวพอสมควร ในการรับกฎหมายใหม่ ทั้งในส่วนของการเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อมาดูว่า ขณะนี้มีคดีความใดที่อยู่ระหว่างการยึดทรัพย์และการบังคับคดีของศาลบ้าง ซึ่งเมื่อกฎหมายบังคับใช้ก็หวังว่าจะสามารถเร่งให้ธนาคารสามารถเคลียร์คดีเก่า ๆ และเร่งขบวนการเจรจายึดทรัพย์ให้รวดเร็วขึ้นได้

กฎหมายนี้มีผลบวกกับธนาคารค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะทำให้แบงก์ทำงานง่าย และยึดหลักทรัพย์มาเป็นของแบงก์เร็วขึ้น แต่วิธีการระบายหลักทรัพย์เหล่านั้น ทำได้ยากในภาวะปัจจุบันที่เอ็นพีเอ หรือทรัพย์รอการขายล้นตลาด เพราะทุกแบงก์มีการนำหลักทรัพย์ที่มีปัญหา และหนี้เสียต่าง ๆ ออกมาขายตลาดมากขึ้น ดังนั้นการขายเอ็นพีเอ เอ็นพีแอลจากพอร์ตธนาคารทำได้ยากขึ้น

ดังนั้นวิธีการเมื่อยึดทรัพย์มาแล้ว ธนาคารก็ต้องดูวิธีการจัดการหลักทรัพย์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่ใช่หน้ามืดขาย โดยการลดราคาหลักทรัพย์เพื่อเร่งระบายหนี้เสียเหล่านี้ออกจากพอร์ต ดังนั้นก็ต้องรอจังหวะที่ดี ราคาดี เหมาะสมธนาคารจึงจะตัดพอร์ตออกขาย

“กฎหมายนี้ จะช่วยลดขั้นตอนที่ยืดยาวให้สั้นลง การยึดทำได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นแบงก์ก็เอามาขายก็ได้ แต่เวลานี้ ขายยาก ซึ่งเราก็ไม่เร่งขายจนขาดทุน วันนี้แม้กฎหมายเอื้อ แต่เราก็ไม่สามารถเคลียร์หลักทรัพย์ต่าง ๆ ได้เร็วนัก” นายผยงกล่าว

กสิกรฯชี้ลดภาระต้นทุนแบงก์

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเคสที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ระหว่างลูกหนี้กับแบงก์เจ้าหนี้ของศาลมีค่อนข้างมาก ซึ่งแต่ละเคสต้องใช้ระยะเวลาเจรจาค่อนข้างนานบางเคสถึง 1 ปีครึ่ง หรือมากกว่านั้น ถึงจะสามารถปิดคดี และเข้าสู่ขบวนการยึดทรัพย์ได้ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างต้นทุนให้แบงก์ ในการบริหารจัดการหลักทรัพย์เหล่านี้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายนี้ออกมาก็เชื่อว่าจะส่งผลบวกต่อแบงก์ให้สามารถตัดขบวนการเจรจาการยึดทรัพย์ทำให้เร็วขึ้นได้

“หลักทรัพย์เยอะที่ติดอยู่ที่ศาล ที่เคลียร์กันไม่ได้ ซึ่งส่วนนี้ก็อยู่ในเอ็นพีเอของธนาคาร ซึ่งก็เชื่อว่าหากเคลียร์ได้ ก็ส่งผลบวกต่อแบงก์แน่นอน เพราะจะเร่งระบายเอ็นพีเอเก่า ๆ ออกไปได้” นายปรีดีกล่าว