ดันพิโกไฟแนนซ์เข้าเครดิตบูโร “วิรไท” เซ็นออกประกาศ-สมาคมชี้ยังไม่พร้อม

“วิรไท” เซ็นออกประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เปิดทาง “พิโกไฟแนนซ์” เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร หนุนเพิ่มฐานข้อมูลประกอบการพิจารณาปล่อยกู้ โฆษก สศค.ชี้พิโกไฟแนนซ์สมัครเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ “ตามความสมัครใจ” ไม่บังคับ ด้านสมาคมพิโกไฟแนนซ์ชี้คงต้องใช้เวลา เหตุการเข้าสมาชิกเครดิตบูโรมีเงื่อนไขทุนจดทะเบียนต้อง 25 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่อง กำหนดให้นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับเป็นสถาบันการเงิน ลงนามโดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต โดยเนื้อหาของประกาศเป็นการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้ ซึ่งจะทำให้ฐานข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อเพิ่มขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินโดยรวม ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2562 เป็นต้นไป

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ตามความสมัครใจ ไม่ได้เป็นการบังคับแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี การจะเข้าเป็นสมาชิกก็ต้องปฏิบัติตามกติกาของทางเครดิตบูโรด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2562 มีจำนวนนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 1,146 ราย ใน 76 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคำขออนุญาตประเภทพิโกพลัส จำนวน 73 ราย ใน 28 จังหวัด

“ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จนถึง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2562 มีจำนวนนิติบุคคลได้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ยื่นคำขออนุญาตแล้วทั้งสิ้น 1,146 ราย ใน 76 จังหวัด”

ทั้งนี้ จังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (ปล่อยกู้ลูกค้าไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย) และสินเชื่อประเภทพิโกพลัส (ปล่อยกู้ลูกค้าได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย) มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 100 ราย กรุงเทพมหานคร 87 ราย และขอนแก่น 61 ราย โดยมีนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 125 ราย ใน 51 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 667 ราย ใน 71 จังหวัด โดยเป็นใบอนุญาตประเภทพิโกพลัส 8 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สงขลา และอุบลราชธานี และประเภทพิโกไฟแนนซ์ 659 ราย ใน 71 จังหวัด มีผู้เปิดดำเนินการแล้วเป็นจำนวน 538 ราย ใน 67 จังหวัด (ประเภทพิโกพลัสจำนวน 7 ราย ประเภทพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 531 ราย) และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 505 ราย ใน 65 จังหวัด

นายพรชัยกล่าวอีกว่า สถิติ ณ สิ้น มิ.ย. 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 97,644 บัญชี รวม 2,511.42 ล้านบาท หรือ เป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 25,720.23 บาท/บัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 46,356 บัญชี เป็นเงิน 1,390.90 ล้านบาท หรือ 55.38% ของยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 51,288 บัญชี เป็นเงิน 1,120.52 ล้านบาท หรือ 44.62% ของยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวม 26,176 บัญชี คิดเป็นเงิน 726 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อคงค้างชำระ 1-3 เดือน มีจำนวน 2,830 บัญชี หรือ 77.21 ล้านบาท หรือ 10.63% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 1,888 บัญชี คิดเป็นเงิน 50.12 ล้านบาท หรือ 6.90% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครดิตบูโรของผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากส่วนใหญ่ยังมียอดปล่อยสินเชื่อไม่ได้สูงมาก รวมถึงทุนจดทะเบียนยังไม่ถึง 25 ล้านบาท ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขการสมัครสมาชิกของเครดิตบูโร

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินกล่าวว่า การเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโรจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการเงิน เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้แก่ผู้ที่ให้กู้ทุกราย เนื่องจากจะทราบสถานะการกู้เงินของลูกค้าที่มาขอกู้ได้ละเอียดขึ้น