ดอลลาร์สหรัฐ,ปอนด์ อ่อนค่า หลังนักลงทุนกังวลสงครามการค้า, Brexit

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (26/8) ที่ระดับ 30.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (23/8) ที่ระดับ 30.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอืื่น ๆ โดยเฉพาะสินทรัพย์ปลอดภัย ในช่วงคืนวันศุกร์ต่อเนื่องมายังต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังกระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้แถลงการณ์ว่าทางการจีนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ในวงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่อัตรา 5% และ 10% รวม 5,078 รายการ ซึ่งครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร น้ำมันดิบ เครื่องบินขนาดเล็ก และรถยนต์ โดยเริ่มบังคับเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งหลังจากการประกาศของทางการจีนดังกล่าว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้มีการประกาศตอบโต้ โดยประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น 30% จากเดิม 25% มูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม และขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเป็น 15% จากเดิม 10% มูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับสินค้าบางชนิดจะมีผลใน 1 กันยายน ขณะที่สินค้าบางชนิดจะมีผลในวันที่ 15 ธันวาคม

อย่างไรก็ตามเมื่อคืนวันจันทร์ (26/8) ที่ผ่านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าว ณ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่ประเทศฝรั่งเศสว่า ทางการสหรัฐพร้อมเริ่มเจรจาการค้ากับจีนอย่างจริงจังอีกครั้ง โดยจีนได้ติดต่อและเสนอให้กลับมาเจรจาร่วมกัน ซึ่งจากคำกล่าวประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ในช่วงวันพฤหัสบดี (29/8) สถานการณ์การเจรจาดูมีความหวังขึ้นอีกหลังนายเกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ทั้งสองฝ่ายควรสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อความคืบหน้าในการเจรจา โดยจีนจะสกัดกั้นไม่ให้สงครามการค้ากับสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น และยินดีที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้าอย่างสงบ ทั้งนี้สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ได้แก่ตัวเลขการประมาณการจีดีพีครั้งที่ 2 โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2562 ที่ระดับ 2.0% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่ต่ำกว่าระดับ 2.1% ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1

สำหรับค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวตามปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก โดยในช่วงต้นสัปดาห์เกิดจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐผนวกกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่าระดับ 30.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.55-30.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 30.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (26/8) ที่ระดับ 1.1090/93 ดอลลาร์สหรับ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/8) ที่ระดับ 1.1089/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าตลอดสัปดาห์จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก หลังจากได้มีการเปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเยอรมนีลดลงเกินกว่าคาดในเดือนสิงหาคมสู่ระดับ 94.3 จาก 95.8 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความขัดแย้งทางการค้าที่รุนแรงขึ้นกำลังทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอย พร้อมทั้งวันอังคาร (27/8) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีได้มีการเปิดเผย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีประจำไตรมาส 2 ปรับตัวลดลง 0.1% หลังจากที่มีการขยายตัว 0.4% ในไตรมาส 1 โดยสำนักงานสถิติระบุว่า สาเหตุที่ทำให้ GDP เยอรมนีหดตัวลงในไตรมาส 2 นั้น มาจากยอดการส่งออกร่วงลงและผลกระทบของข้อพิพาทการค้า ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ว่ามีโอกาสมากขึ้นที่ทางธนาคารกลางยุโรป
(อีซีบี) จะทำการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1033-1.1164 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 1.1038/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินปอนด์ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าอย่างมาก หลังในวันพุธ (28/8) นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์ Brexit เพิ่มมากขึ้น โดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ประกาศกำหนดในวันที่ 14 ตุลาคมเป็นวันที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะประทานพระบรมราโชวาทต่อรัฐสภาอังกฤษเนื่องในวาระเปิดสมัยประชุมสภา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาอังกฤษมีกำหนดกลับเข้าประชุมสภาในสัปดาห์หน้า โดยจะมีการประชุมไปจนถึงวันที่ 9 กันยายน ก่อนที่จะมีการพักสมัยประชุมเป็นเวลา 3 สัปดาห์เพื่อให้พรรคการเมืองต่าง ๆ จัดการประชุมภายในพรรค แต่การดำเนินการของนายจอห์นสันในครั้งนี้ได้ทำให้การพักสมัยประชุมสภายาวนานขึ้นเป็น 5 สัปดาห์ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐสภามีเวลาน้อยลงในการออกกฎหมายเพื่อสกัดความพยายามของนายจอห์นสันในการนำอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ตุลาคมโดยไร้ข้อตกลง

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (26/8) ที่ระดับ 105.29/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/8) ที่ระดับ 106.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหลังตลาดวิตกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินเยนยังมีปัจจัยส่งเสริมหลังตลาดพันธบัตรสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดภาวะ inverted yield curve อีกครั้ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 2 ปี อยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งนักลงทุนบางส่วนเกรงว่าสัญญาณดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันศุกร์ (30/8) กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า อัตราว่างงานของญี่ปุ่นได้ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดรอบ 26 ปีในเดือน ก.ค. โดยอยู่ที่ระดับ 2.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ตุลาคม ปี 2535 หลังภาวะการจ้างงานเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 104.50-106.65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 106.41/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ