บจ.แห่ซื้อหุ้นคืน 1.5 หมื่นล้าน “บ้านปู-TCAP-PTTGC” ดาหน้าพยุงราคา

เปิด 10 บจ. ประกาศซื้อหุ้นคืนปี”62 รวมใช้เงิน 1.5 หมื่นล้านบาท พยุงราคารับมือตลาดหุ้นขาลง เผย “TCAP-BANPU” ซื้อคืนสูงสุดมูลค่า 5 พันล้าน “PTTGC” 3 พันล้าน โบรกฯชี้ “TCAP” จัดการเงินทุนดัน ROE หลังปิดดีลควบ “TMB”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2562 นี้ ตั้งแต่ต้นปีถึง ณ 29 ส.ค. พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 10 แห่ง ทำโครงการซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้น รวมเป็นจำนวนหุ้น 1,743 ล้านหุ้น และ ใช้เงินรวม 15,034 ล้านบาท ได้แก่ 1.บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) 2.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 3.บมจ.บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี (BJCHI) 4.บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) 5.บมจ.เอสวีไอ (SVI) 6.บมจ.ซัสโก้ (SUSCO) 7.บมจ.ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ (TITLE) 8.บมจ.ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น (TWZ) 9.บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) และ 10.บมจ.บ้านปู (BANPU)

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการนักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า เริ่มเห็นแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนของ บจ.หลายแห่ง ซึ่งเป็นการบ่งชี้สัญญาณว่า ราคาหุ้นในมุมมองของผู้บริหารไม่ได้อยู่ในโซนที่แพงเกินไป โดยในช่วงตลาดหุ้นมีความเสี่ยง บจ.จำเป็นต้องเก็บเงินสดไว้ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ และอีกวิธีหนึ่งคือการซื้อหุ้นคืนที่มีการทำกันมากขึ้น เพราะการจ่ายปันผลจำเป็นจะต้องเสียภาษี จึงทำให้ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่การซื้อหุ้นคืนนั้นจะทำให้ตัวเลขทางบัญชีดูดีขึ้น อาทิ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เป็นต้น

“เราจะเห็น TCAP พยายามซื้อหุ้นคืนให้ ROE ขยับสูงขึ้น ถ้าสังเกตหุ้นกลุ่มแบงก์ส่วนใหญ่จะแคร์ ROE ค่อนข้างมาก เนื่องจากการเทรดที่มูลค่าทางบัญชีจะลิงก์กับ ROE ดังนั้น ยิ่งแบงก์ไหนทำ ROE ได้สูง นักวิเคราะห์จะยอมเทรดที่ P/BV (อัตราส่วนราคาต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ที่คาดหวังค่อนข้างสูง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เข้ามาช่วยบริหารเงินทุน”

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ส่วนใหญ่แนวโน้มการซื้อหุ้นคืนจะเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินมั่นคง มีเงินสดในมือที่จะไปซื้อหุ้นคืนได้ โดยช่วงเวลาที่ซื้อจะเป็นช่วงที่ภาวะตลาดย่ำแย่ โดยเฉพาะช่วงราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวลงต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น หรือไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเท่าที่ควร

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การซื้อหุ้นคืน เป็นหนึ่งในการบริหารจัดการเงินทุน (capital management) ทำให้อัตราส่วนทางการเงินปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนหุ้นที่ลดลง ทำให้อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปรับตัวดีขึ้น และส่งผลให้การประเมินมูลค่าต่อหุ้นพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณแก่ผู้ลงทุนถึงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ที่มูลค่าหุ้นพื้นฐาน น่าจะมีมูลค่าที่สูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน ที่ปรับลดลงจากภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวน

อย่างไรก็ดี การซื้อหุ้นคืนของ บจ. ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกันบ่อยนัก จะมีแค่บางบริษัทที่ต้องการจัดการเงินทุน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการจ่ายปันผล เพียงแต่แทนที่จะคืนให้กับทุกคน ก็จะคืนให้กับคนที่ต้องการขาย โดยจากกระแสข่าว บจ.ขนาดใหญ่ซื้อหุ้นคืน มองว่าจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป

“กรณีของ TCAP ที่ประกาศซื้อหุ้นคืนจำนวนไม่เกิน 97 ล้านหุ้น วงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท รวมถึงเตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่เป็นเงินปันผลพิเศษในอัตราหุ้นละ 4 บาท เนื่องจากได้รับเงินประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากการทำดีลควบรวมระหว่างธนาคารธนชาต (TBANK) กับธนาคารทหารไทย (TMB) ซึ่งการนำเงินจำนวนหนึ่งมาซื้อหุ้นคืน เนื่องจาก TCAP ไม่สามารถนำรายได้ของ TBANK เข้ามาบุ๊ก (ลงบัญชี) ในงบการเงินได้แล้ว ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องดำรงเงินกองทุนที่สูงไว้เหมือนเมื่อก่อนจะลดน้อยลงไป โดยหลังดีลควบรวมแล้ว TCAP จะมีเงินเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ก็มากพอสมควร มีทางเลือกว่าจะจ่ายเป็นเงินปันผลพิเศษ หรือจะนำไปซื้อหุ้นคืนดี ซึ่งเขาทำทั้ง 2 อย่าง” นายภาสกรกล่าว

ส่วนกรณี PTTGC ที่รอบล่าสุด ประกาศซื้อหุ้นคืนอีก 400,000 หุ้น มูลค่ารวม 20.50 ล้านบาท (รวมปีนี้มีแผนซื้อหุ้นคืนทั้งหมด 50 ล้านบาท เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท) แตกต่างจากกรณีของ TCAP เพราะเป็นผลมาจากการที่ราคาหุ้นปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยตั้งแต่ต้นปีถึง 1 วันก่อนประกาศซื้อหุ้นคืน (11 มิ.ย.) ลดลง -10.95% จากสิ้นปี 2561 ที่ราคาอยู่ที่ 70.75 บาท ลงมาอยู่ที่ 63 บาท ขณะที่ราคาสินค้าของ PTTGC ยังไม่ได้ปรับลดลงต่ำตามมูลค่าหุ้น (valuation) ที่ปรับตัวลง หรือเรียกได้ว่าราคาหุ้นปัจจุบันอาจถูกเกินไป

“การซื้อหุ้นคืนเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกระบวนการ แต่เหตุผลของแต่ละบริษัทจะต่างกันออกไป โดยเรามองว่าการซื้อหุ้นจะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น เพราะราคาหุ้นจะดีขึ้น อีกทั้งในกระบวนการซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่ บจ.จะถือหุ้นไว้ระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงประกาศยกเลิกหุ้น ส่งผลให้จำนวนหุ้นน้อยลง และผู้ถือหุ้นเดิมก็จะได้รับสัดส่วนกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น”

ล่าสุด นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บ้านปู (BANPU) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ 29 ส.ค.ว่า บอร์ดบริษัทได้อนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัท เพื่อบริหารทางการเงิน (treasury stocks) ภายในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 5,000 ล้านบาท