ค่าเงินดอลลาร์แกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดสหรัฐปิดทำการวันแรงงาน

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/9) ที่ระดับ 30.64/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 30.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐและจีนได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสิตค้าตามแผนการเดิมแล้วเมื่อวานนี้ (1/9) นับตั้งแต่เวลา 11.00 น. ตามเวลาไทย โดยในรอบนี้รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มเก็บภาษี 15% จากสินค้าจีนมูลค่าประมาณ 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงสมาร์ทวอทช์ ทีวีจอแบน และรองเท้า ขณะที่จีนได้เริ่มเก็บภาษี 5% จากการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ก.ค. สูงกวา่ตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน มิ.ย. ส่วนดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ดีตลาดการเงินและหน่วยงานราชการของสหรัฐปิดทำการเนื่องในวันแรงงานในวันนี้ (2/9) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.59-30.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.63/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.อยู่ที่ 102.80 ขยายตัว 0.52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.19% จากเดือน ก.ค. 62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ขยยตัวเฉลี่ย 0.87%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (2/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0985/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 1.1040/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันหลังตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนชะลอตัว กระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจจะปรับลดดอกเบี้ยลงและออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบใหม่ในการประชุมวันที่ 12 ก.ย. ทั้งนี้ ระหว่าวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0960-1.0998 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0968/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (2/9) เปิดตลาดที่ระดับ 106.08/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/8) ที่ระดับ 106.41/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหลังตลาดวิตกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตของญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับ 49.3 ในเดือน ส.ค.จาก 49.4 ในเดือน ก.ค. นับเป็นการลดลง 4 เดือนติดต่อกัน หลังได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวทำให้เผชิญกับการลดการผลิต ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.94-106.38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ส.ค.จากมาร์กิต (3/9) ดัชนีภาคการผลิตเดือน ส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (3/9) ยอดนำเข้าร ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน ก.ค. (4/9) ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือน ส.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (4/9) รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (5/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (5/9) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ส.ค. จาก ADP (5/9) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน ส.ค. จากมาร์กิต (5/9) ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ก.ค. (5/9) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ส.ค. (6/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/2.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.7/+2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ