บริษัทข้ามชาติโยกกำไร จี้สรรพากรเร่ง กม.สกัด

กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนองานวิจัยเรื่อง “การหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ สำคัญแค่ไหนสำหรับไทยและอาเซียน” ที่ศึกษาโดย “ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “รศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์” นักวิชาการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ

ซึ่งได้วิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินของบริษัทข้ามชาติใน 5 ประเทศอาเซียน (ASEAN 5) ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ช่วงปี 2548-2559 จำนวน 2,904 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทในไทยและมาเลเซียถึงราว 70% และส่วนใหญ่เป็นบริษัทในไทย

“ดร.อธิภัทร” กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่า บริษัทข้ามชาติใน ASEAN 5 มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีการลดลงของอัตราภาษีต่างชาติ 10% จะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแหล่งลงทุนถึง 10.3% โดยเฉลี่ย ซึ่งแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษี จะเด่นชัดสำหรับบริษัทในภาคการผลิต และบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งนี้ มีตัวอย่างเมื่อปี 2561 ที่สหรัฐอเมริกาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง จาก 35% เป็น 21%

“จากเมื่อก่อนอเมริกาเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีสูงมาก ทำให้หลาย ๆ บริษัทในอเมริกาพยายามถ่ายโอนกำไรไปประเทศอื่น แต่การที่ลดภาษีไปเกือบครึ่ง ทำให้แรงจูงใจที่จะถ่ายโอนกำไรลดลง แต่สิ่งที่น่าจะกระทบกับไทยก็คือ รายได้ภาษีของไทยจากบริษัทข้ามชาติ ลดลงประมาณ 4% โดยเฉลี่ย”

ขณะที่การป้องกันการถ่ายโอนกำไรนั้น ไทยมีมาตรการที่เข้มงวด “ต่ำสุด” และมีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการวางแผนภาษีได้มากที่สุดใน ASEAN 5 แม้ว่าปัจจุบันภาษีนิติบุคคลจะลดเหลือ 20% จากเดิม 30% แต่ประเทศอื่น ๆ ก็มีการลดเช่นกันในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าอเมริกาเองก็ยังมีแนวโน้มจะปรับลดได้อีกในอนาคต ดังนั้น ไทยต้องคอยติดตามว่าจะมีแรงจูงใจต่อการโยกย้ายการรายงานผลกำไรของบริษัทข้ามชาติในไทยมากน้อยเพียงใด ซึ่งบริษัทข้ามชาติในไทยไม่ได้มีมาก มีแค่หลักพันบริษัท แต่ก็ล้วนเป็นบริษัทที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และมีอิทธิพลกับภาษีนิติบุคคลค่อนข้างมาก

“ดร.อธิภัทร” กล่าวอีกว่า การจะป้องกันการถ่ายโอนกำไร ลำพังแค่การเรียกเอกสารจากบริษัทข้ามชาติอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเพิ่มระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบบัญชีด้วย จึงจะสามารถลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติได้ โดยพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) ที่บังคับใช้ต้นปี 2562 จะ “สร้างเครื่องมือ” ให้กรมสรรพากรมีข้อมูลมาคัดกรองบริษัทที่มีความเสี่ยงได้ และวางแผนการตรวจสอบบัญชีได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

“การเรียกเอกสารอย่างเดียวไม่พอ สิ่งที่จะช่วยได้คือการเข้าไปตรวจสอบบัญชี ขณะเดียวกันพวกมาตรการป้องกันการตั้งทุนต่ำ (thin capitalization) ก็จะเป็นทางเลือกที่ช่วยได้ แต่ของไทยยังไม่มีกฎระเบียบส่วนนี้”

โดยปัจจุบันการเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทที่ให้บริการข้ามชาติยังทำได้ยาก หลายประเทศจึงเก็บภาษีจากฐานการบริโภคก่อน อย่างไทยก็กำลังผลักดันภาษีอีบิสซิเนส ที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากแพลตฟอร์มต่างชาติ อาทิ Facebook, google, Netflix, Agoda เป็นต้น ซึ่งจะเปิดให้บริษัทเหล่านี้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ VAT ในไทยอย่างเต็มใจ แล้วนำส่ง VAT ให้สรรพากร โดยวิธีนี้หลายประเทศทำแล้วได้ผล เช่น เกาหลี อินเดีย ส่วนสิงคโปร์กำลังจะทำ เป็นต้น

“เรื่องที่ใหญ่กว่า คือ กำไร อย่าง Facebook กำไรส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในไทยแน่นอน เพราะผู้ใช้งานในไทยมีมหาศาล ดังนั้นจึงควรดูตรงนี้ด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีทางออกสำหรับโลก มีเพียงฝรั่งเศสที่เก็บเป็น digital turnover tax ที่ 3% ของรายได้ ส่วนไทยก็ท้าทาย เพราะเราประเทศไม่ใหญ่ แต่ถ้าเราอยากให้สตาร์ตอัพของเราแข่งขันได้ ก็ต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่ปัจจุบัน อย่าง Netflix ขายบริการในไทย โดยไม่เสีย VAT ถ้ามีสตาร์ตอัพในไทยเกิดขึ้น แล้วให้บริการคอนเทนต์เหมือนกัน แต่ถูกเก็บ VAT ก็จะไม่เท่าเทียม ดังนั้น ภาษี digital survice จึงสำคัญ”

ขณะที่ “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ที่ผ่านมากฎหมาย Transfer Pricing มีผลไปแล้ว จากนี้จะผลักดันภาษีอีบิสซิเนส น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ปี 2563 คาดว่าจะเก็บรายได้ 3-4 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งจากบทเรียนต่างประเทศไม่ว่าจะออสเตรเลีย เกาหลี สิงคโปร์ พบว่าสามารถเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น

“ข้อกังวลว่าจะเก็บไม่ได้ เพราะบริษัทไม่ได้ตั้งในไทย แต่จากที่เราศึกษาบทเรียนเกือบ 20 ประเทศ บริษัทใหญ่ ๆจะมีธรรมาภิบาล จะไม่ยอมถูกปรับเพราะเสียชื่อ ดังนั้นจึงยอมเสียภาษี แต่พวกบริษัทเล็ก ๆ พวกบริการข้ามชาติ จะเป็นข้อกังวลว่าจะไปตามเก็บได้อย่างไร หากไม่ยอมมาจดทะเบียน VAT เราจึงเสนอกฎหมายอีกตัว เรียกว่า Exchange of Information ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของ OECD (กรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ”

ในที่สุดแล้ว กรมสรรพากรคงต้องเร่งสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อสามารถแข่งขันได้บนความเท่าเทียม และรัฐก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย