3 แบงก์เปิดศึก “แทรเวลการ์ด” ชิงตลาดแลกเงิน/รูดปรื๊ด “ไทยเที่ยวนอก”

แบงก์แห่ออก “แทรเวลการ์ด” รับเทรนด์คนไทยเที่ยวนอกพุ่ง ดึงคนรูดบัตรใช้จ่ายในต่างแดนแทนแลกเงินสดพกติดตัว “TMB Analytics” คาดแบงก์ได้ค่าฟี 2 พันล้านบาท/ปี พ่วงขายประกันภัยเดินทาง ล่าสุด “ไทยพาณิชย์” ส่งบัตรพรีเพดชิงตลาด ตั้งเป้าปีแรก 2 แสนใบ ฟาก “TMB All Free” ลูกค้ากว่า 3 ล้านราย รูดใช้จ่ายในต่างประเทศพุ่ง 14 เท่า ภายใน 6 เดือน

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้ที่เห็นธนาคารพาณิชย์มีการออกบัตรประเภท “traval card” กันหลายรายทั้งในรูปบัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตรเติมเงิน (พรีเพด) นั้น มาจากกระแสที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศกันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ ยอดคนไทยไปเที่ยวเมืองนอกโตประมาณปีละ 11% เลยทีเดียว ยิ่งในปีนี้มีปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าด้วย ยิ่งทำให้ถึงสิ้นปีนี้ ยอดคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศน่าจะถึงระดับ 11 ล้านคน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็เล็งเห็นถึงการสร้างรายได้จากตลาดตรงนี้ โดยการใช้บัตรน่าจะเข้าไปมีส่วนแบ่งจากตลาดเดิมที่จะเป็นการแลกเงิน แล้วนำเงินสดไปใช้จ่ายได้มากขึ้น

“เหตุที่แบงก์สนใจออกแทรเวลการ์ดกัน เพราะแม้การแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้มีการยกเว้น Fx charge แต่ก็ยังมีค่าธรรมเนียมการใช้บัตรในต่างประเทศที่แบงก์ยังได้รับอยู่ ถ้าเป็นบัตรเครดิตจะได้ราว 70 สตางค์ แต่ถ้าบัตรเดบิตประมาณ 30 สตางค์ รวม ๆ แล้วค่ารูดบัตรตก 2,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ แบงก์ยังมองโอกาสขายโปรดักต์อื่นด้วย เช่น ประกันการเดินทาง เป็นต้น”

ทั้งนี้ จะมีทั้งบัตรที่เป็นพรีเพด ที่ต้องมีการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนไว้ก่อน และไม่ใช่พรีเพด (on demand) ที่จะไม่คิด Fx charge ณ ขณะที่รูดบัตรใช้จ่าย ซึ่งจะได้อัตราแลกเปลี่ยนในขณะที่รูดบัตร

“ถ้าพรีเพดก็จะเป็นบัตรเดบิตเสียส่วนใหญ่ คล้าย ๆ กับอีวอลเลต แต่ถ้าเป็นแบบ on demand ก็อาจจะมีได้ทั้งบัตรเดบิต และบัตรเครดิต โดยตอนนี้ใกล้เข้าหน้าท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ ซึ่งคนไทยก็จะไปเที่ยวเมืองนอกกันมากขึ้น จึงเห็นแบงก์ออกบัตรรอกันไว้”

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากยอดการใช้จ่ายในต่างประเทศที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.2 แสนล้านบาท และการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 19% และมีมูลค่าสูงถึง 28,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ธนาคารจึงดำเนินกลยุทธ์ “SCB Global Payment” เจาะกลุ่มผู้ใช้จ่ายสกุลเงินต่างประเทศ ร่วมมือกับวีซ่า ประเดิมเปิดตัวบัตรเติมเงิน “Planet SCB” จับลูกค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ชื่นชอบการเดินทางต่างประเทศ กลุ่มช็อปปิ้งออนไลน์ และกลุ่มศึกษาในต่างประเทศ

“ลูกค้าจะแลกเงินได้เรตดีเท่าร้านแลกเงินชั้นนำ และแลกได้มากถึง 13 สกุลเงินยอดนิยมในบัตรเดียว ใช้จ่ายได้ทุกสกุลเงินทั่วโลก ไม่ชาร์จ Fx charge 2.5% ส่วนการกดเงินสดในต่างประเทศ จะคิดค่าธรรมเนียม 100 บาทต่อครั้ง แลกเงินง่าย 24 ชั่วโมง ผ่านทางแอปพลิเคชั่น SCB EASY ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในปีนี้จะมียอดผู้สมัครบัตรกว่า 200,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทะลุเป้าได้ เพราะหลังเปิดให้เริ่มสมัครเมื่อ 23 ส.ค. ขณะนี้มีผู้เปิดใช้งานบัตรแล้วกว่า 2 หมื่นใบ”

ก่อนหน้านี้ในปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้เปิดตัว “Krungthai Travel Card” เป็นบัตรเติมเงิน แลกเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ได้ 9 สกุลเงิน และถอนเงินสดด้วยสกุลเงินที่แลกเก็บไว้ได้ สามารถใช้จ่ายที่ร้านค้าที่มีเครื่องหมาย VI-SA ด้วยสกุลเงินประเทศนั้น ๆ ได้ ส่วนการถอนเงินสดในต่างประเทศขึ้นอยู่กับค่าธรรมเนียม ATM แต่ละประเทศ

ขณะที่ทีเอ็มบี ได้เปิดตัว “TMB All Free” บัตรเดบิต ไม่คิด Fx charge ทั้งรูดใช้จ่ายในต่างประเทศ และช็อปออนไลน์ โดยจ่ายเท่าอัตราแลกเปลี่ยนเทียบเท่าร้านแลกเงิน ขณะที่กดเงินสดผ่าน ATM ในต่างประเทศคิดค่าธรรมเนียม 75 บาทต่อครั้ง และช่วงกลางปีนี้ ยังได้เปิดตัว “TMB Absolute Visa Signature” ที่มีจุดเด่น อาทิ ฟรี Fx charge 2.5% และรูดใช้จ่ายผ่านออนไลน์ได้คะแนนสะสม 2 เท่า เป็นต้น

นางณัฐวรรณ อภิรัตนพิมลชัย หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าบุคคลระดับกลาง ทีเอ็มบี กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งาน TMB All Free มากกว่า 3 ล้านราย และมียอดการใช้จ่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 14 เท่า ภายใน 6 เดือน


นายชวมนต์ วินิจตรงจิตร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกรรมธนาคาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ในอดีตคนส่วนใหญ่เลือกที่จะถือเงินสดพกติดตัว ซึ่งมีความไม่สะดวก เพราะต้องหาเวลาเดินทาง เพื่อไปร้านแลกเงิน แล้วยังต้องคาดเดาถึงสถานการณ์ค่าเงินในแต่ละวัน รวมถึงการพกเงินสดที่เสี่ยงต่อการสูญหายและถูกโจรกรรม และเศษเหรียญที่แลกคืนไม่ได้ภายหลังจากการท่องเที่ยว ทีเอ็มบีจึงปรับโปรดักต์ที่มีอยู่ให้ตอบโจทย์ตรงนี้มากขึ้น