ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังตัวเลข PMI ชี้การผลิตของสหรัฐเริ่มหดตัว

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 4 กันยายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 30.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (3/9) ที่ระดับ 30.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงหลังเมื่อวาน (3/9) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2559 และลดลงจากระดับ 51.2 ในเดือนกรกฎาคม โดยการที่ดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 50 นั้น บ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกัน 36 เดือน โดยภาคธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกหดตัวลงในเดือนสิงหาคม

สำหรับประเด็นสงครามการค้า ล่าสุดเมื่อคืนวาน (3/9) ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความกดดันจีนให้รีบทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐโดยกล่าวว่า เขามั่นใจว่าทางการจีนต้องการทำการเจรจาทางการค้ากับรัฐบาลสหรัฐ ชุดใหม่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม นายทรัมป์ได้ขู่ว่าหากเขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่ 2 ประเทศจีนจะต้องเจอกับการทำข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐที่ยากลำบากมากขึ้น และระหว่างที่จีนกำลังรอให้สหรัฐจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ ห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศของจีนจะทรุดตัวลง ขณะที่การจ้างงานในภาคธุรกิจและเงินทุนไหลเวียนในระบบก็จะลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.59-30.61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.58/60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 1.0977/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (3/9) ที่ระดับ 1.0932/34 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าสวนทางกับเงินดอลลาร์หลังมีรายงานจาก ISM ว่าดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ เงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากการที่สมาชิกสภาสังกัดพรรคฝ่ายค้านของสหราชอาณาจักร รวมทั้งสมาชิก 21 รายที่แปรพักตร์จากพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ประสบความสำเร็จในการลงมติด้วยคะแนนเสียง 328 ต่อ 301 เสียง ในการเข้าควบคุมกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม สภาสามัญชนจะทำการอภิปรายร่างกฎหมายป้องกันการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีการทำข้อตกลงในวันพฤหัสบดี (5/9) ซึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากสภา ก็จะเป็นการกดดันให้นายจอห์นสันร้องขอต่อ EU เพื่อขยายกำหนดเส้นตายในการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU เป็นวันที่ 31 มกราคม 2563 จากเดิมวันที่ 31 ตุลาคมนี้ นอกเสียจากว่า นายจอห์นสันจะสามารถยื่นข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่เข้าสู่รัฐสภา และได้รับการอนุมัติภายในวันที่ 19 ตุลาคม อย่างไรก็ดี นายจอห์นสันกล่าวยืนยันก่อนหน้านี้ว่า เขาจะไม่ขอให้ EU เลื่อนกำหนด Brexit ออกไปอีก และถ้าหากสมาชิกรัฐสภาเรียกร้องให้มีการขยายเส้นตาย Brexit ออกไป ก็จะเป็นการทำลายจุดยืนของอังกฤษในการเจรจากับ EU

นอกจากนี้ นายจอห์นสันยังขู่ว่าเขาจะประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 ตุลาคม หากรัฐสภาอนุมัติร่างกฎหมายสกัด Brexit แบบไร้ข้อตกลงในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0967-1.1012 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1009/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/9) ที่ระดับ 105.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/9) ที่ระดับ 106.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนแข็งค่าขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงความไม่ชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับ Brexit ว่าจะมีข้อสรุปในทิศทางใด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.82-106.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.25/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดุลการค้าเดือนกรกฎาคม (4/9), ดัชนีีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนสิงหาคมจากสถาบัน จัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (4/9), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ  (เฟด) (5/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (5/9), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนสิงหาคมจาก ADP (5/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสึดท้ายเดือนสิงหาคมจากมาร์กิต (5/9), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนกรกฎาคม (5/9), และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคม (6/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้รา 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.20/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.75/2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ