ประกันดิ้นชงคปภ.ผ่อนเกณฑ์ หวั่น “ดอกเบี้ยต่ำ-สำรองเข้ม” ฉุดงบการเงิน

ประกันชีวิตหวั่น “ดอกเบี้ยขาลง-เกณฑ์ตั้งสำรองเข้ม” กระทบงบการเงิน-ฉุดความเชื่อมั่นต่อบริษัท ดิ้นถก คปภ.ขอให้ทบทวนเกณฑ์ LAT ด่วน หวังได้ข้อสรุปก่อนปิดงวดงบการเงินไตรมาส 3/62 นี้ ด้าน คปภ.ยันปรับสูตรคำนวณต้องยึด “มาตรฐานบัญชี”

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะดอกเบี้ยต่ำกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจประกันชีวิต เมื่อผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) รัฐบาลตกต่ำอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ลงมาต่ำสุดที่ 1.4% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่ต่ำสุดอยู่ที่ 1.7% ถือว่าต่ำลงมากจนแทบจะใกล้เคียงกับบอนด์ยีลด์ของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น จนอาจจะเกิดภาวะ “inverted yield curve” ซึ่งเป็นความเสี่ยง ทั้งในแง่ที่หลายบริษัทประกันมีข้อจำกัดในการลงทุนเพิ่มขึ้น และอาจต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาอัตราส่วนความเพียงพอของเงินสำรองประกันชีวิต (CAR ratio) จากเกณฑ์การตั้งสำรองพิเศษโดยการทดสอบความเพียงพอของหนี้สินประกันภัย (LAT) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

“เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะบอนด์ยีลด์อายุ 50 ปี ยังทำสถิติลงมาต่ำสุดอยู่ที่ 2.1% จากระดับ 3% เมื่อเทียบปี 2559 และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะลดดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ซึ่งก็ถือว่าต่ำมากแล้ว โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทางสมาคมจึงมีการเข้าหารือเร่งด่วนกับทาง คปภ.เมื่อ 27 ส.ค.ที่ผ่านมาขอให้ทบทวน LAT ที่กำหนดให้บริษัทประกันต้องทดสอบประจำทุกรายไตรมาส โดยหากหนี้สินที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ LAT สูงกว่าจำนวนเงินสำรองที่แสดงในงบการเงิน บริษัทประกันจะต้องรับรู้ส่วนต่างเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในงบกำไรขาดทุนไตรมาสนั้น ๆ ทันที” แหล่งข่าวกล่าว

นายนิติพงษ์ ปรัชญานิมิต ประธานอนุกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า หากดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง บางบริษัทอาจจะได้รับผลกระทบในงบกำไรขาดทุนจากการทดสอบ LAT อย่างมาก ดังนั้น จึงอยากให้ คปภ.ทบทวน โดยเบื้องต้น คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบ และทบทวนค่าตัวแปรต่าง ๆ ในสูตรคำนวณให้เหมาะสม ทั้งนี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้เสร็จก่อนปิดงบการเงินงวดไตรมาส 3/62

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทดสอบ LAT อาจจะยังไม่ได้มีผลกระทบช่วงเวลานี้ แต่จะค่อย ๆ ทยอยมีผลกระทบ หากดอกเบี้ยยังต่ำไปอีกอย่างน้อย 2 ไตรมาส โดยจะเริ่มเห็นผลกระทบในเดือน เม.ย. 2563 ซึ่งอาจจะทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจว่าบริษัทประกันมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่

“ถ้าดอกเบี้ยต่ำ แปลว่าสิ่งที่บริษัทประกันคาดว่าจะลงทุนได้เยอะก็ลงทุนไม่ได้ เงินทำงานก็น้อย ทำให้บริษัทประกันต้องตั้งหนี้สินเพิ่มขึ้น” นายพิเชฐกล่าว

นายปรัชญา กุลวณิชพิสิฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ฟิลลิปประกันชีวิต กล่าวว่า การทดสอบ LAT อาจทำให้การตั้งสำรองของบริษัทกระโดดขึ้นมาก จากเดิมที่ขออนุมัติคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อเรียกเพิ่มทุนในช่วงไตรมาส 3 ไว้ประมาณ 300-400 ล้านบาท ซึ่งกำลังให้ฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยเข้าไปประเมิน อย่างไรก็ดี ทางบอร์ดให้พิจารณาตัวเลขอัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) ในช่วงสิ้นเดือน ส.ค.ก่อนแล้วค่อยประเมินว่าต้องเรียกเพิ่มทุนจำนวนเท่าไร ซึ่งกระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

“เมื่อต้นปีเราได้เพิ่มทุนไป 200 ล้านบาท และไตรมาส 3 คาดว่าจะอนุมัติเพิ่มทุนอีก 300-400 ล้านบาท แต่เมื่อผลกระทบ LAT เข้ามาอาจส่งผลให้บริษัทต้องเพิ่มทุนมากกว่าเดิม เนื่องจาก CAR ของบริษัทจะลดต่ำลงมาอยู่ใกล้ ๆ ระดับเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดอยู่ที่ 140%” นายปรัชญากล่าว


แหล่งข่าว คปภ. กล่าวว่า การทดสอบ LAT เป็นมาตรฐานทางบัญชี ฉะนั้น การดำเนินการปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามแม้ว่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก คปภ.ก็จะไม่ให้ทำอะไรผิดไปจากมาตรฐานบัญชีอยู่แล้ว ซึ่งการหารือนอกรอบเบื้องต้นทางสมาคมได้มีการเสนอทบทวนสูตรคำนวณใหม่ ซึ่งควรจะทบทวนหรือไม่อย่างไรก็ได้ให้โจทย์สมาคมไปหาข้อมูลมาสนับสนุน ซึ่งข้อมูลตรงนั้นจะต้องเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ว่ามีความเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ซึ่งหลังจากนี้ ทางสมาคมจะต้องนัดประชุม คปภ.อย่างเป็นทางการ เพื่อเสนอข้อมูลกับโมเดลที่เหมาะสมต่อไป