เร่งปิดจุดอ่อน “ชิม ช็อป ใช้” หวั่น 1.9 หมื่นล้านปลุกจีดีพี “แป้ก”

รัฐบาลจัดทำแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 3 แสนล้านบาท โดยมีเป้าหมายผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งมาตรการสำคัญที่ถูกคาดหวังก็คือ “ชิม ช็อป ใช้” ที่ใช้งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 19,093.5 ล้านบาท (ดูกราฟิก) โดยเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นการบริโภค และหวังว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบได้อีกหลายรอบตามที่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้

โดยมาตรการมีทั้งการ “แจกเงินฟรี” 1,000 บาท และให้เงินชดเชย หรือ “แคชแบ็ก” อีก 15% ซึ่งผู้ลงทะเบียนรับสิทธิต้องมีการโหลดแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ของธนาคารกรุงไทยมาใช้ ก็จะได้รับเงินทันที 1,000 บาท สามารถนำไปใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการได้ ส่วนแคชแบ็กต้องมีการ “เติมเงิน” ของตัวเองลงไปในแอปเพิ่มเติม และเมื่อใช้จ่ายเงินดังกล่าวก็จะได้รับเงินคืน 15% ของยอดใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน หรือให้แคชแบ็กสูงสุดไม่เกิน 4,500 บาทต่อคนนั่นเอง

นอกจากนี้ ต้องเป็นการจ่ายเงินให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการที่รับชำระเงินด้วยแอป “ถุงเงิน” เท่านั้น

สำหรับกลุ่มเป้าหมายรัฐบาลตั้งเป้าไว้ 10 ล้านคน โดยการจะขอรับสิทธิได้ต้องเป็นคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ชิมช็อปใช้.com เพื่อรับสิทธิ ซึ่งต้อง “ระบุจังหวัด” ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว ที่จะต้องไม่ใช่จังหวัดที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชน และต้องลงทะเบียนก่อนเดินทางท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 วัน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 0.1% (เทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการ) ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศทั้งปี 2562 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.12 ล้านล้านบาท เติบโต 4.7% จากปีก่อนหน้า

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า มาตรการชิม ช็อป ใช้ กว่าจะเห็นผลในทางปฏิบัติค่อนข้างล่าช้า จึงไม่ทันเริ่มไตรมาส 3 ทำให้จะไปมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ซึ่งอาจจะกระตุ้นได้ไม่มาก แต่อย่างน้อยก็ถือว่าดีกว่าไม่มีอะไรออกมา พอจะช่วยกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทน อย่างอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น

“การจะหวังผลกระตุ้นจีดีพีให้โตขึ้น เราไม่ได้ประเมินว่ามาตรการนี้จะส่งผลไปขนาดนั้น เอาเป็นว่าน่าจะมีผลช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่อยู่ในภาวะย่ำแย่มากไปกว่านี้ อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นลักษณะนี้ต้องระวังด้วยว่า พอกระตุ้นปลายปีนี้จะเป็นการไปดึงการจับจ่ายใช้สอยต้นปีหน้าให้ชะลอตัวด้วยหรือเปล่า” นายอมรเทพกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังกรมบัญชีกลางเปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าสมัครเข้าร่วม พบว่าตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.-20 ก.ย. ยังมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมน้อยแค่ประมาณ 3,300 ราย จากเป้าหมายที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ราย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เนื่องจากผู้ประกอบการยังเข้าร่วมน้อย จึงได้มีการปรับกลยุทธ์เป็นเชิงรุกให้กรมบัญชีกลางลงพื้นที่เข้าหาผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายแทนให้มาสมัครที่คลังจังหวัดหรือจุดรับลงทะเบียนอื่น ๆ รวมถึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 ก.ย.นี้เห็นชอบขยายขอบเขตให้ครอบคลุมธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สปา ทัวร์นำเที่ยว การเช่ารถ เช่าเรือในการเดินทาง และบริการต่าง ๆ ในโรงแรม นอกจากนี้ ยังเปิดให้ร้านอาหาร หรือร้านที่เข้าข่าย ซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้าสามารถเข้าร่วมได้ด้วย

เช่นเดียวกับ นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ได้ปรับแผนการดำเนินการรับสมัครผู้ประกอบการ โดยธนาคารกรุงไทยจะโทรศัพท์ประสานเชิญชวนผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมมาตรการโดยตรง

อย่างไรก็ดี หากจำกันได้รัฐบาลชุดก่อนเคยทำมาตรการ “แต๊ะเอียช่วยชาติ” ที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ที่ใช้บัตรเดบิต หรือชำระผ่านคิวอาร์โค้ดเพื่อซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการให้แก่ร้านค้าในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (POS) ในทุก ๆ การชำระ VAT 7 บาท จะชดเชย 5 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท/ราย ทว่า สุดท้ายแล้ว มาตรการดังกล่าว พบว่ามีผู้ซื้อสินค้าและบริการตามมาตรการแค่ 6,466 ราย จากผู้ที่ลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 34,865 ราย ส่วนร้านค้าที่ร่วมโครงการมี 213 ราย หรือคิดเป็น 19,551 สาขา

ครั้งนั้น กระทรวงการคลังสรุปบทเรียนว่า การชำระเงินผ่านบัตรเดบิตและคิวอาร์โค้ดอาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนที่นิยมทำผ่านบัตรเครดิต ที่มีแรงจูงใจมากกว่าทั้งในแง่ส่วนลด การสะสมคะแนน และการผ่อนชำระ รวมถึงประเด็นสำคัญที่พบว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล” และ “ข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน”


เช่นเดียวกับรอบนี้ที่โฆษกกระทรวงการคลัง ก็ยอมรับว่า ผู้ประกอบการก็กังวลเรื่องการถูกตรวจสอบภาษีโดยกรมสรรพากร ดังนั้น หากจะหวังผลให้มาตรการ “ชิม ช็อป ใช้” เกิดประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ผู้เกี่ยวข้องคงต้องทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน และเร่งปรับมาตรการให้เอื้อต่อการจับจ่ายของประชาชนมากยิ่งขึ้นโดยเร็ว