สคร.ขันน็อตรัฐวิสาหกิจ 10 เดือน เบิกจ่ายได้ 81%

สคร.ขันน็อตรัฐวิสาหกิจ 10 เดือน เบิกจ่ายได้ 81% จี้เร่ง”รถไฟไทย-จีน”-“สุวรรณภูมิเฟส 2”-“ทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงเแหวนรอบนอก”

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.ได้ติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นมากขึ้นตามข้อสั่งการของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยขอให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในลักษณะ Front – Loaded เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น และให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาโครงการลงทุนเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 2562

ทั้งนี้ ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 ของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง มีผลการเบิกจ่ายในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 2561 – ก.ค. 2562) จำนวน 146,707 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม

“สคร.ได้ยกระดับการเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง ในช่วงที่เหลือของปี 2562 โดยการบูรณาการร่วมกับกระทรวงเจ้าสังกัดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง รวมถึงช่วยผลักดันการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศด้วย” นายประภาศกล่าว

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง สิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2562 เท่ากับ 146,707 ล้านบาท แบ่งเป็น การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 34 แห่ง ที่เบิกจ่ายได้ 77,891 ล้านบาท หรือคิดเป็น 70% ของแผน

 

การเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 10 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – กรกฎาคม 2562) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 11 แห่ง เท่ากับ 68,816 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 7 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 – กรกฎาคม 2562)

โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจที่มีผลการเบิกจ่ายเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมมีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
2.แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 3.โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

4.งานก่อสร้างปรับปรุงขยายของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 5.โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้าระยะที่ 9 ส่วนที่ 3 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ 6.แผนงานบำรุงรักษาและพัฒนาคุณภาพโครงข่ายเพื่อความมั่นคงของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)


ทั้งนี้ มีโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่ง สคร.ได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงเจ้าสังกัดที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้ช่วยกำกับติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงได้เชิญรัฐวิสาหกิจร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีกทางหนึ่งด้วย