ส่องงบฯรัฐบาลปี’63 ผันเงินลงท้องถิ่น “มท.-อปท.” อู้ฟู่

คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภายใต้กรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 จำนวน 2 แสนล้านบาท

“เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ครม.ได้เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ ทุกหน่วยงานได้ส่งคำขอรับการจัดสรร งบประมาณรวมกันถึง 5.09 ล้านล้านบาท

“ระหว่างนี้รอให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไปดูในรายละเอียดว่าจะมีปรับ หรือเกลี่ยงบฯตรงไหนบ้าง แต่ต้องทำภายใต้กรอบงบฯที่กระทรวงได้รับจัดสรรไว้แล้วเท่านั้น”

สำหรับงบฯกลางที่ได้รับจัดสรร 5.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 4.72 หมื่นล้านบาท เป็นการเพิ่มในส่วนเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญกว่า 4.19 หมื่นล้านบาท, เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการเพิ่ม 7,935 ล้านบาท เช่น เงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น, ค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม 1,200 ล้านบาท และเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเพิ่ม 500 ล้านบาท ส่วนงบฯกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นปรับลดลง 3,000 ล้านบาท

ด้านกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ได้รับจัดสรรกว่า 3.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.52 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายก่อสร้างอาคารใหม่ (ย้ายกระทรวง), มีการบรรจุอาสารักษาดินแดน (อส.) เต็มอัตรากว่า 2,700 ตำแหน่ง, เพิ่มค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเลื่อนขั้นให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ปัจจุบันได้รับเงินเดือนตายตัว

ขณะที่รัฐวิสาหกิจได้รับจัดสรรกว่า 1.56 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1.52 หมื่นล้านบาท รายการที่สำคัญเป็นการตั้งงบฯชดเชยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 1.02 หมื่นล้านบาท และการจัดการหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับจัดสรรกว่า 5.52 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1.11 หมื่นล้านบาท เป็นการจัดสรรตรงให้กับ อปท. ขนาดใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) พัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีก 76 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายวิธีการงบประมาณใหม่ ส่วน อปท.ที่ขนาดเล็กลงมา อาทิ เทศบาลต่าง ๆ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะได้รับเงินอุดหนุนผ่านทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตามแผนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

“เทศบาลและ อบต.ต่าง ๆ จะได้รับเงินอุดหนุนรวมกันกว่า 3.18 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลต้องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านทรัพยากรน้ำ รวมถึงมีการเพิ่มค่าตอบแทน อสม.”

สำหรับกระทรวงแรงงานได้รับจัดสรรกว่า 6.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 8,284 ล้านบาท ส่วนใหญ่จัดสรรเพิ่มขึ้นให้แก่สำนักงานประกันสังคม ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับจัดสรรกว่า 2.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7,938 ล้านบาท ตามที่มีนโยบายอุดหนุนเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้น ด้านกระทรวงการคลังได้รับจัดสรรกว่า 2.49 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6,727 ล้านบาท ส่วนใหญ่สำหรับการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย

ส่วนกระทรวงกลาโหมได้รับจัดสรรกว่า 2.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6,226 ล้านบาท โดยกองทัพบกได้รับจัดสรรเพิ่มกว่า 2,300 ล้านบาท กองทัพเรือเพิ่มกว่า 1,793 ล้านบาท และกองทัพอากาศเพิ่มกว่า 1,273 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรกว่า 1.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3,346 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มในแผนงานบุคลากรภาครัฐ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้รับจัดสรรกว่า 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2,871 ล้านบาท

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับจัดสรรกว่า 1.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1,226 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มในส่วนกรมชลประทาน ในแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นหลัก

นอกจากนี้ มีกระทรวง/หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณลดลง ซี่งผู้อำนวยการสำนักงบฯ บอกว่า เกิดจากปีงบประมาณที่ผ่านมาเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า จึงถูกปรับลดงบประมาณปี 2563 ลง อาทิ จังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ได้รับจัดสรร 2.4 หมื่นล้านบาท ลดลงกว่า 3,579 ล้านบาท ยังมีกระทรวงคมนาคมที่ได้รับจัดสรรกว่า 1.78 แสนล้านบาท ลดลงกว่า 758 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของงบประมาณในส่วนของกรมทางหลวง ขณะที่กรมทางหลวงชนบทได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับจัดสรรกว่า 3.68 แสนล้านบาท ลดลงกว่า 386 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับจัดสรรกว่า 6,071 ล้านบาท ลดลงกว่า 427 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เมื่อแต่ละกระทรวงพิจารณาในรายละเอียดรอบสุดท้ายแล้ว สำนักงบฯจะเสนอ ครม.อีกที วันที่ 24 ก.ย. จากนั้นก็จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงวันที่ 17-18 ต.ค.ต่อไป