แบงก์เร่งสินเชื่อ SME โค้งท้าย ลุ้นสิ้นปีตลาดพลิกบวก 2.5%

3 แบงก์เร่งเครื่องสินเชื่อเอสเอ็มอีโค้งสุดท้าย งัดกลยุทธ์ซัพพอร์ตธุรกิจฝ่ามรสุมเศรษฐกิจชะลอ “ไทยพาณิชย์” มั่นใจปีนี้สินเชื่อปล่อยใหม่โต 20% ตามเป้า ผนึกสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ปั้นโครงการจับคู่เอสเอ็มอีกับบริษัทเทคโนโลยี ด้าน “กสิกรไทย” ชี้เอสเอ็มอีรายใหญ่ยังโตดี “กรุงไทย” เร่งช่วยลูกค้าก่อนเป็นหนี้เสีย หวังนโยบายรัฐหนุนผู้ประกอบการกู้ลงทุนใหม่มากขึ้น ด้าน TMB Analytics คาดสิ้นปีสินเชื่อเอสเอ็มอีพลิกกลับมาโตได้แค่ 2.5% หลังครึ่งปีแรกหดตัว -0.1% เหตุหนี้เสียยังสูง

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ภาพรวมสินเชื่อเอสเอ็มอีปล่อยใหม่ของธนาคาร ปี 2562 คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 20% หรือเพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดเติบโตได้ที่ 19% แล้ว ส่วนการขอสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนใหม่ยังไม่ค่อยเติบโตนัก ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ สินเชื่อเอสเอ็มอีสุทธิของธนาคารน่าจะโตได้ 7-8% ในปีนี้

ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% และลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลง 0.125% เพื่อช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการในการกู้เงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน (working capital loan) นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นการช่วยเหลือลูกค้าผ่านการให้ความรู้ การจัดอบรมต่าง ๆ ล่าสุดจับมือสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดหลักสูตรอบรม “NIA-SCB Innovation-Based Enterprise (IBE)” เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ (business matching) ระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับบริษัทเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถพัฒนาธุรกิจได้ ทั้งการขายของออนไลน์ การทำบัญชี หรือการจัดการสินค้าคงค้างอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนธุรกิจได้

“การจัดอบรม IBE ลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารราว 2 พันราย จาก 6 หมื่นราย น่าจะได้ประโยชน์จากการนำนวัตกรรมไปใช้พัฒนาธุรกิจ เช่น นวัตกรรมการทำบัญชีเดียว ที่ช่วยลดต้นทุนการจ้างนักบัญชีได้ จากเดิมที่อาจมีต้นทุนนักบัญชีอยู่ที่ 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน แต่การใช้นวัตกรรมการทำบัญชีเดียวจากบริษัทเทคโนโลยี จะช่วยให้ต้นทุนการทำบัญชีต่อเดือนเหลือแค่ 1 หมื่นบาทต่อเดือน เป็นต้น” นางพิกุลกล่าว

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่ากลุ่มเอสเอ็มอีรายใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เติบโตโดดเด่น เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการค่อนข้างสูง ขณะที่สินเชื่อเพื่อการลงทุนอาจยังเติบโตไม่โดดเด่นนัก เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มีความจำเป็นต้องขยายกำลังการผลิตจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้ลดอัตราดอกเบี้ยกู้ MOR และ MRR ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยคาดว่าจะเห็นผลจากการลดดอกเบี้ยลงในอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงส่งผลกระทบต่อลูกค้าของธนาคารทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีความอ่อนไหวเพิ่มขึ้น เช่น คำสั่งซื้อถูกยกเลิก หรือส่งของไปต่างประเทศแล้วถูกเบี้ยวหนี้ เป็นต้น ซึ่งพบได้ในเอสเอ็มอีที่ค้าขายกับลูกค้าไม่กี่ราย นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้ราคาสินค้าไทยที่ส่งออกต่างประเทศไม่สามารถแข่งขันได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารมีแผนเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าทันทีที่เริ่มมีปัญหาเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียผ่านวิธีการต่าง ๆ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

“ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เชื่อว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีจะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังรัฐบาลเข้ามาให้การสนับสนุน โดยล่าสุดบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ลูกค้าเอสเอ็มอียังมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนใหม่ เพื่อยกระดับการผลิตให้ธุรกิจอีกด้วย” นายผยงกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีปีนี้ ถึงสิ้นปีน่าจะโตได้ที่ 2.5% หลังครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตติดลบไป 0.1% เนื่องจากมีเอสเอ็มอีรายกลางที่มีการออกหุ้นกู้มาชำระคืนหนี้ แต่หากตัดส่วนดังกล่าวออก สินเชื่อเอสเอ็มอีก็โตแค่เล็กน้อยราว 1% ถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่โตกว่า 7%

“ปี 2561 ที่สินเชื่อเอสเอ็มอีโตได้ดี เพราะมีผู้เล่นใหม่ หรือแบงก์ที่เข้ามาเจาะตลาดเอสเอ็มอีนี้มากขึ้น ส่วนแบงก์ที่พอร์ตเอสเอ็มอีใหญ่อยู่แล้ว ก็ไม่ได้ขยายตัวมาก ถือว่าทรงตัว เนื่องจากสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน รวมกันอยู่ในระดับสูงเกือบ 8% จะต้องปล่อยดอกเบี้ยเท่าไหร่ถึงจะคุ้ม รวมถึงแบงก์ยังต้องตั้งสำรองเข้มขึ้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 อีก” นายนริศกล่าว


ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังที่ธนาคารพาณิชย์มีการลดดอกเบี้ย รวมถึงมีมาตรการต่าง ๆ ของรัฐออกมานั้นนายนริศกล่าวว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีที่จะเร่งตัวขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปี น่าจะเป็นในส่วนที่เป็นโปรแกรมของภาครัฐ อย่างโครงการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. โดยการเติบโตน่าจะมาจากกลุ่มลูกค้าเดิมของแบงก์ที่มีประวัติชำระดีเป็นหลัก นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอ เอสเอ็มอีก็คงไม่กล้าลงทุนเพิ่มกันมากด้วย