อีซีบีลดดอกเบี้ยตามคาดพร้อมทั้งประกาศทำ QE

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (9/9) ที่ระดับ 30.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (6/9) ที่ระดับ 30.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันในขณะที่นักลงทุนต้องการซื้อสกุลเงินที่มีความเสี่ยงสูง โดยได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงข่าวที่ว่ารัฐบาลเยอรมนีมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ, อังกฤษมีโอกาสน้อยลงที่จะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) แบบไร้ข้อตกลง หรือ no-deal Brexit และอาจจะมีความคืบหน้าอย่างมากในการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทั้งนี้มีรายงานว่า จีนได้ยื่นข้อเสนอที่จะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพิ่มขึ้น หากสหรัฐยอมผ่อนคลายข้อจำกัดต่อการส่งออกสินค้าของบริษัทหัวเว่ย  และเลื่อนการเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2.50 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ 1 ตุลาคม โดยล่าสุดวันพุธ (11/9) จีนได้ประกาศยกเว้นสินค้าสหรัฐ 16 รายการ ส่งผลตั้งแต่วันที่ 17 กันยายนในปีนี้จนถึง 6 กันยายน 2563 แต่รายการที่ยกเวันนั้นยังไม่รวมถึงสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของสหรัฐ อย่างไรก็ดีนักลงทุนมองว่า การกระทำนี้เป็นการแสดงความสุจริตใจของจีนก่อนที่ทั้งสองประเทศจะมีการเจรจาทางการค้ากันในช่วงต้นเดือนตุลาคม ต่อมาในคืนเดียวกันประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความว่า เขาจะเลื่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ดีกับจีน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวเพิ่มว่า การเลื่อนเก็บภาษีดังกล่าวมีขึ้นตามคำเรียกร้องของนายหลิว เหอ รองนายรัฐมนตรีจีน และเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม

ในส่วนของการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกรกฎาคม ดัชนียังคงทรงตัวกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนสิงหาคมหลังจากเพิ่มขึ้น 1.7% ในเดือนกรกฎาคม ในส่วนของดัชนีราคาผู้ผลิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงกว่าในช่วงเดือนก่อนหน้า ซึ่งรายงานตัวเลขนี้ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการทวีตข้อความต่อว่าธนาคารสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกล่าวว่าธนาคารกลางควรปรับลดดอกเบี้ยลงให้ติดลบโดยการกระทำดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้อย่างมากและส่งผลดีต่อโครงสร้างหนี้ของรัฐอีกด้วย คำแถลงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงให้เห็นว่าเขาปรับเปลี่ยนจุดยืนไปจากเดิม เพราะเขาเคยกล่าวในเดอืนที่แล้วว่า เขาไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยติดลบในสหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 30.34-30.67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (13/9) ที่ระดับ 30.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (9/9) ที่ระดับ 1.1016/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/9) ที่ระดับ 1.1028/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เนื่องจากนักลงทุนจับตาดูผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันที่ 12 กันยายนนี้ ทั้งนี้ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้มีการประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับอีซีบีลง 0.1% สู่ระดับ -0.5% จากเดิมที่ระดับ -0.40% ตามตลาดคาดการณ์ ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% นอกจากนี้อีซีบีระบุว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปหรือปรับลดลง จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของอีซีบีขณะเดียวกันอีซีบีแถลงว่า จะรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือน พ.ย. ซึ่งอีซีบีจะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน โดยยังไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0925-1.1109 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/9) ที่ระดับ 1.1094/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ที่ (9/9) ที่ระดับ 106.95/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/9) ที่ระดับ 106.98/998 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุุ่นเปิดเผยในวันจันทร์ (9/9) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2562 ขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ลดลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้นซึ่งระบุว่าขยายตัว 1.8% เนื่องจากการปรับลดประมาณการตัวเลขการใช้จ่ายด้านทุน ซึ่งตัวเลขประมาณการล่าสุดสะท้อนให้เห็นมุมมองของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวในระดับปานกลาง ในระหว่างสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงหลัง
อุปสงค์ในการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลดลงขณะที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้นักลงทุนยังคงรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในสัปดาห์หน้า 18/19 กันยายน ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 106.75-108.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (13/9) ที่ระดับ 107.96/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ