หุ้นอสังหาฯ ฝ่ามรสุม LTV AWC เขย่า SET ดันมาร์เก็ตแคป

ครึ่งแรกปีนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างยากลำบาก เพราะต้องเผชิญผลกระทบจากมาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ย. 2562 ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นไปอีก ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังดูเหมือนจะเริ่มมีปัจจัยบวกเข้ามา

ที่ล่าสุด กลุ่มอสังหาฯ ดูจะคึกคัก จากกรณีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของ “บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” หรือ AWC ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่เพิ่งจัดโรดโชว์ข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้นไปเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา และจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ต้นเดือน ต.ค.นี้

“ชาญชัย พันทาธนากิจ” ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า หุ้นไอพีโอของ AWC จะมีมาร์เก็ตแคป (มูลค่าตลาดรวม) สูงถึง 1.92 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.1% ของมาร์เก็ตแคปของหุ้นใน SET index หรือคิดเป็น 18% ของมาร์เก็ตแคปของหุ้นกลุ่มอสังหาฯ โดยมาร์เก็ตแคปใหญ่ติด 1 ใน 20 ของดัชนี SET50 ด้วย จึงคาดว่าจะผ่านเกณฑ์พิจารณาพิเศษสามารถเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ได้ ณ สิ้นวันซื้อขายวันแรก

“หาก AWC ได้เข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 หมายความว่าจะต้องมีหุ้นในกลุ่ม SET50 และ SET100 หนึ่งตัวที่ต้องออกมา โดยหุ้นที่เสี่ยงจะหลุดจาก SET50 มากที่สุด ได้แก่ KKP (ธนาคารเกียรตินาคิน) และหุ้นที่เกี่ยวจะหลุดกลุ่ม SET100 มากที่สุด คือ BEAUTY (บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้) ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาชี้ว่าหุ้นที่จะหลุด SET50 จะถูกแรงขายจากกองทุนเชิงรุก (active fund) ออกมาเพื่อเป็นการปรับพอร์ตก่อนจะเข้าลงทุนหุ้นตัวใหม่ในดัชนี”

“ชาญชัย” บอกอีกว่า เนื่องจาก AWC มีมาร์เก็ตแคปที่ค่อนข้างใหญ่ จะหนุนให้ภาพรวมมาร์เก็ตแคปของหุ้นดัชนี SET50 ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ขนาดมาร์เก็ตแคปที่ใหญ่ดังกล่าว จะส่งผล

ให้นักลงทุนสถาบันจำเป็นต้องเกลี่ยน้ำหนักจากหุ้นรายอื่น ๆ ในดัชนีออกมาเพื่อเข้าลงทุนใน AWC แทน ดังนั้น อาจทำให้ราคาหุ้น SET50 ผันผวนได้

นอกจากนี้ ผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ AWC ถูกจัดกลุ่ม คาดว่าจะส่งผลให้เม็ดเงินที่เคยลงทุนในหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ปรับพอร์ตเข้ามาลงทุนในหุ้น AWC แทน จึงคาดว่าจะเห็นความผันผวนของราคาหุ้นกลุ่มนี้ในช่วงก่อนที่ AWC เข้าเทรด (เปิดการซื้อขาย) ไปจนถึงช่วงระยะแรกที่เริ่มเทรด

“กำไรของ AWC จะถูกนับรวมเป็นกำไรของกลุ่มอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม กำไรของกลุ่มในช่วงแรกอาจไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก เนื่องจากเมื่อเทียบกำไรต่อมาร์เก็ตแคปของ AWC แล้วยังถือว่าไม่สูงมาก”

ขณะที่ “เติมพร ตันติวิวัฒน์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทประมาณการกำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่มอสังหาฯ ปี 2562 นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 3.8% เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยสัดส่วนกำไรสุทธิประมาณ 40% มาจากช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่อีกประมาณ 60% หรือราว 2.3 หมื่นล้านบาท จะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง จากยอดขายที่รอรับรู้รายได้หลังการโอน (backlog) มูลค่ามากกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในไตรมาส 4

“ไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของกลุ่มอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลให้กำไรช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มสดใสกว่าครึ่งปีแรก โดยการที่ ธปท.ผ่อนคลายมาตรการ LTV เรื่องการกู้ร่วม ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง และการเปิดโครงการใหม่ที่มากขึ้น น่าจะส่งผลให้กำไรสุทธิในไตรมาส 3 ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 เพราะมาตรการ LTV ที่ส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มอสังหาฯ เราเชื่อว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2 ดังนั้น ไตรมาส 3 ควรจะดีขึ้น และงวดไตรมาส 4 คาดว่าจะพีก (กำไรสูงสุด) เนื่องจากมี backlog ที่รอรับรู้ค่อนข้างสูง”

ทั้งนี้ บล.เมย์แบงก์ แนะนำซื้อหุ้นในกลุ่มอสังหาฯ รายที่มีกำไรดีขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกและปี 2561 ได้แก่ บมจ.ศุภาลัย (SPALI) ที่ราคาเป้าหมาย 28.00 บาท และ บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) ที่ราคาเป้าหมาย 4.20 บาทดูแล้วครึ่งปีหลัง จากปัจจัยบวกที่มีมากขึ้น หุ้นกลุ่มอสังหาฯน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก รวมถึงยังต้องลุ้นด้วยว่า จะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติม จากการผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการออกมากระตุ้นหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป