ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังเหตุการณ์โจมตีโรงงานน้ำมันเริ่มผ่อนคลายในระยะสั้น

แฟ้มภาพ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 17 กันยายน 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/9) ที่ระดับ 30.56/57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 30.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวหลังจากที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากเหตุการณ์โรงงานน้ำมันในซาอุดิอาระเบียที่ถูกโจมตี

โดยล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ อนุมัติให้นำน้ำมันดิบในคลังสำรองฉุกเฉินออกมาใช้เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไป นอกจากนี้นักลงทุนยังคงรอฟังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะเริ่มประชุมในคืนนี้ โดยตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% และประเด็นที่สำคัญอีกอย่างก็คือถ้อยแถลงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเลือกใช้แสดงความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากที่ล่าสุดเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐบางสาขามองว่าเหตุการณ์โจมตีโรงงานน้ำมันในซาอุดิอาระเบียนี้ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และอยากให้ที่ประชุมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในขณะที่เจ้าหน้าที่บางส่วนกลับมองว่า การที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นจากการโจมตีนั้นอาจจะช่วยหนุนอัตราเงินเฟ้อได้ ดังนั้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ควรจะคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.54-30.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (17/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1006/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 1.1048/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (17/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1006/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 1.1048/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) จะมีการหารือกันเกี่ยวกับการกำหนดงบประมาณระยะยาวในยูโรโซนสำหรับปี 2021-2027 โดยงบประมาณดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นโครงสร้างรายจ่ายประจำปีของภูมิภาคต่อไป

ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่าประเทศสมาชิกในยูโรโซนมีความคิดเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับการปรับงบประมาณและลดขนาดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจลง เนื่องจากความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยูโรโซน และงบประมาณที่ลดลงหลังจากสหราชอาณาจักรไม่ต้องจ่ายเงินสมทบให้กับยูโรโซนในกรณีที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากยูโรโซน (Brexit) เรียบร้อย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0988-1.1021 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1008/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (17/9) เปิดตลาดที่ระดับ 108.17/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (16/9) ที่ระดับ 107.71/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ คำกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ช่วยลดความกังวลของนักลงทุนได้ชั่วคราว ทำให้นักลงทุนเพิ่มการรถือครองสินทรัพย์เสี่ยงและลดการถือครองสกุลเงินเยนลงในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะเดียวกันตลาดยังคงจับตาดูผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพฤหัสบดีนี้ (19/9) ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.01-108.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.ย.จากสถาบัน ZEW ยูโรโซน (17/9), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (17/9), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (18/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (18/9), การประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) (19/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (19/9), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมจาก Conference Board สหรัฐ, ยอดขายบ้านมือสองเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (19/9), อัตราเงิน้เฟ้อเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (20/9), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคมของเยอรมนี (20/9) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนกันยายนของยูโรโซน (20/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.7/-1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.45/1.02 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ