วายแอลจี บูลเลี่ยนฯ รายงานราคาทองคำ วันที่ 18 ก.ย. 2562

แฟ้มภาพ
บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รายงานราคาทองคำ วันที่ 18 ก.ย. 2562 และแนวโน้มการซื้อขายทองคำ

ปัจจัยพื้นฐาน

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น  3.00  ดอลลาร์ต่อออนซ์  แม้ในระหว่างวันจะได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านของสหรัฐที่ดีเกินคาด  ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์โจมตีโรงงานน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย  หลังการผลิตน้ำมันของซาอุดี อารามโคจะกลับสู่ระดับปกติเร็วกว่าที่คาดไว้  นอกจากนี้ยังเกิดทัศนะบวกเกี่ยวกับการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ  หลังประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวต่อสื่อว่า  สหรัฐและจีนอาจบรรลุข้อตกลงทางการค้าในไม่ช้า  สถานการณ์ดังกล่าวแม้จะกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย  แต่ยังมีแรงซื้อเข้ามาพยุงราคาทองคำไว้  ประกอบกับยูโรแข็งค่าขึ้นหลังดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมนีดีดตัวเกินคาดในเดือนก.ย.จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเชิงบวกต่อราคาทองคำ  อย่างไรก็ดี  ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแคบเพื่อรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +5.86 ตัน  สำหรับวันนี้จับตาผลการประชุมเฟดในเวลาตี 1 ของคืนวันนี้  คาดเฟด “ลด” ดอกเบี้ย 0.25%  แต่สถานการณ์ต่างๆยังไม่แน่นอน  ดังนั้นจึงต้องรอดู สัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในอนาคตจาก Press Conference ของประธานเฟด  รวมไปถึง Economic Projections และ Dot Plot ฉบับใหม่  ซึ่งอาจทำให้ทองคำเคลื่อนไหวผันผวนได้

ปัจจัยทางเทคนิค

หลังจากราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมามีการแกว่งตัวค่อนข้างจำกัด แต่หากระยะสั้นมีแรงดีดกลับและพยายามจะดีดตัวขึ้นไปทดสอบแนวต้านระดับ 1,512-1,515 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากไม่สามารถยืนเหนือระดับดังกล่าวอาจจะเกิดแรงขายสลับออกมาอีกครั้ง ประเมินแนวรับบริเวณ 1,489-1,485 ดอลลาร์ต่อออนซ์

กลยุทธ์การลงทุน

ดูบริเวณ 1,489-1,485 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่หลุดสามารถเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้น (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,479 ดอลลาร์ต่อออนซ์)เพื่อขายทำกำไรเมื่อราคาดีดตัวหรือบริเวณแนวต้าน 1,512-1,515 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาผ่านได้แนวดังกล่าวให้รอดูบริเวณแนวต้านถัดไปที่ 1,524 ดอลลาร์ต่อออนซ์

คำแนะนำ  เน้นการเก็งกำไรระยะสั้น เข้าซื้อบริเวณแนวรับ 1,489-1,485 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาทองคำพยายามยืนเหนือโซนแนวรับดังกล่าวได้ ทำให้ราคายังคงมีโอกาสขยับขึ้นเพื่อทดสอบแนวต้าน 1,515-1,524 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และต้องเพิ่มความระมัดระวังจากผลการประชุมเฟด