ค่าเงินบาททรงตัว นักลงทุนรอผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 18 กันยายน 2562 ค่าเงินาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/9) ที่ระดับ 30.54/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากปิดตลาดในวันอังคาร (17/9) ที่ระดับ 30.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนรอถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาเวล ที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ จากเครื่องมือ Fedwatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ามีโอกาสเหลือเพียง 65.8% ที่ธนาครกลางสหรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 025% ในการประชุมวันนี้ (18/9) จากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคาดการณ์ไว้สูงกว่า 90% สำหรับความคืบหน้าของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนนั้น นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลมากขึ้นหลังจากสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐแจ้งว่าสหรัฐและจีนจะมีการจัดเจรจาการค้ากันในระดับรัฐมนตรีผู้ช่วยในวันพฤหัสบดีนี้ (19/9)

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญในคืนที่ผ่านมา (17/9) มีการเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขจึ้น 0.6% ในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนกรกฎาคม การปรับตัวขึ้นของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมได้รับแรงหนุนจากการผลิตเครื่องจักร และโลหะ นอกจากนี้สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐ ได้เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1 จุด สู่ระดับ 68 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในปี 2562 และยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 66 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากอัตราดอกเบี้ยจำนองที่ลดลง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.51-30.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (18/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1065/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/9) ที่ระดับ 1.1013/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงิน
ยูโรปรับตัวแข็งค่าหลังจาก สถาบัน ZEW รายงานในวันอังคาร (27/8) ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวเยอรมนีเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ในเดือนกันยายนโดยเพิ่มสู่ระดับ -22.5 จาก -37.0 ในช่วงเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามทางสถาบันได้ย้ำเตือนว่าเศรษฐกิจของเยอรมนียังคงมีแนวโน้มถดถอย เนื่องจากปัจจัยทางด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับความไม่แน่นอนเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจก็จะมีการเลือกประธานธนาคารกลางยุโรปคนใหม่ โดยสมาชิกรัฐสภาให้การอนุมัติรับรองนางคริสติน ลาการ์ด อดีตผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในการดำรงตำแหน่งประธานคนใหม่ ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินนั้นนางคริสติน
ลาการ์ด จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้เป็นไปในทิศทางใด โดยเธอยังคงถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางยุโรปได้เข้าซื้อพันธบัตรโดยไม่ระบุวันสิ้ันสุดโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้มีการถือครองพันธบัตรเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1036-1.1075 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1039/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (18/9) เปิดตลาดที่ระดับ 108.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (17/9) ที่ระดับ 108.15/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนยังคงรอฟังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันนี้  และยังคงจับตาดูผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพฤหัสบดีนี้ (19/9) ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.07-108.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.20/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (18/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (18/9), การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (18/9), การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) (19/9), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (19/9), การประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) (19/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (19/9), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมจาก Conference Board สหรัฐ, ยอดขายบ้านมือสองเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (19/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น ผ20/9), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคมของเยอรมนี (20/9) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนกันยายนของยูโรโซน (20/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.8/-1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.5/+1.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ